Taxi คนพิการระบบใหม่ พร้อมบริการผู้พิการ-ผู้สูงอายุ

กรุงเทพฯ 29 ม.ค. – วาเลนไทน์นี้ผู้พิการ-ผู้สูงอายุ เดินทางจากบ้านถึงโรงพยาบาล กทม. สะดวกและฟรี ด้วยบริการ Taxi คนพิการระบบใหม่


นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการจัดบริการรถสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น ว่า โครงการจัดบริการรถสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น หรือหลายคนรู้จักในชื่อ “Taxi คนพิการ” ได้ดำเนินการมาหลายปีแล้ว เดิมมีจำนวนรถทั้งหมด 30 คัน ซึ่งกรุงเทพมหานครมอบหมายกิจการในอำนาจหน้าที่ให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เป็นผู้ดำเนินการโครงการดังกล่าว เป็นระยะเวลา 4 ปี (1 ตุลาคม 2559 -30 กันยายน 2563) โดยกรุงเทพมหานครสนับสนุนงบประมาณบางส่วน และเคทีจัดหาผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายอีกบางส่วน

หลังสิ้นสุดบันทึกมอบหมาย (วันที่ 30 กันยายน 2563 – วันที่ 2 ตุลาคม 2565) เคทียังคงให้การสนับสนุนและให้บริการเดินรถอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กรุงเทพมหานครโดยสำนักการจราจรและขนส่งได้ให้เงินอุดหนุนแก่เคทีเพื่อสนับสนุนโครงการ โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2565 – วันที่ 26 กันยายน 2566 รวมเป็นระยะเวลา 360 วัน ซึ่งเป็นการให้บริการด้วยรถจำนวน 10 คัน


ภายหลังสิ้นสุดบันทึกข้อตกลงการรับเงินอุดหนุน เคทียังคงให้การสนับสนุนและให้บริการเดินรถอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยช่วงวันที่ 27 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2566 ให้บริการเดินรถจำนวน 10 คัน และตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 ธันวาคม 2566-วันที่ 31 มกราคม 2567 ให้บริการเดินรถ จำนวน 5 คัน จึงจะยุติการให้บริการเดินรถ

“สำหรับปัญหาการให้บริการที่เกิดขึ้น คือ ผู้พิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการได้ยาก การให้บริการไม่คลอบคลุม (มีการใช้งานเพียงบางกลุ่ม) การให้บริการยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ใช้งบประมาณในการดำเนินการสูง ไม่คุ้มค่ากับเที่ยวรถ กรุงเทพมหานครจึงต้องหาแนวทางเพื่อทำให้การบริการนี้มีความยั่งยืนและมีการบริการที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้พิการนั่งหรือผู้สูงอายุรถเข็นมีความจำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งขนส่งมวลชนทั่วไปยังไม่ครอบคลุม” ที่ปรึกษาฯ ภาณุมาศ กล่าว

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันรถบางส่วนมีความเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน คงเหลือรถที่ยังสามารถนำมาใช้งานได้ 20 คัน โดยจำนวนนี้อยู่ในกระบวนการรับโอนมาที่กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์จะรับ 18 คัน สำนักพัฒนาสังคมจะรับ 2 คัน หมายความว่า รถจำนวน 18 คัน ที่สำนักการแพทย์รับโอนมาจะมีการกระจายอยู่ในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 11 แห่ง และอีก 2 คัน ที่สำนักพัฒนาสังคมรับโอนจะใช้ในส่วนที่ดูแลผู้สูงอายุอยู่


จากตัวเลขผู้ใช้บริการในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นประจำพบว่า มีผู้พิการ 5,000 คน มีผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวลำบากประมาณ 100,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขค่อนข้างสูง จึงต้องมีการจัดระบบรถบริการที่มีทั้ง 20 คัน อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเปิดให้ผู้พิการและผู้สูงอายุสามารถจองผ่านระบบในหลายช่องทาง อาทิ ไลน์แอดโรงพยาบาล โทรศัพท์มายังศูนย์ข้อมูลของสำนักการแพทย์ หรือระบบ Easy Chat ทางแอปพลิเคชัน หมอ กทม. ซึ่งจะมีสำนักการแพทย์เป็นผู้ดูแลเรื่องคิว

ในส่วนของเงื่อนไขการให้บริการจะมีการประเมินความจำเป็นโดยพิจารณาตามข้อบ่งชี้ ทั้งด้านร่างกาย (เช่น ผู้ป่วยที่ระดับ ADL 5-12 ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยต้องมีสัญญาณชีพคงที่ไม่อยู่ในภาวะวิกฤต ผู้ป่วยที่มีนัดรักษาต่อเนื่องกับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ ส่วนในกรณีผู้ที่ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล จะพิจารณาการให้บริการโดยใช้ Telemedicine ติดตามการรักษาพยาบาล และเยี่ยมบ้าน) และด้านสังคม (เยี่ยมบ้านแล้วพบปัญหาเศรษฐานะ)

ด้านลักษณะการให้บริการ จะให้บริการไม่เกิน 4 เที่ยว/วัน/คัน โดยพิจารณาความจำเป็นของการให้บริการจากดุลยพินิจของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงต้องมีการนัดหมายขอใช้บริการรถรับ-ส่งผู้พิการหรือผู้สูงอายุ ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ซึ่งจะเป็นการให้บริการตามพื้นที่ Health Zone โดยที่ต้นทางและปลายทางเป็นที่อยู่อาศัยของผู้รับบริการหรือโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครจะเปิดรับจองการใช้บริการในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 และจะเริ่มให้บริการในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 โดยให้บริการฟรี อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครต้องขออภัยในช่วงระหว่าง 2 สัปดาห์ที่หยุดให้บริการด้วย

สำหรับในอนาคต กรุงเทพมหานครอาจมีการขยายไปยังกลุ่มเป้าหมายรอง เช่น ผู้พิการที่ต้องเดินทางไปสถาบันสิรินธร (กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี) แต่ในระยะแรกนี้จะให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายหลักที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ก่อน โดยหลังจากเปิดให้บริการ จะรวบรวมข้อมูลเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน เพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้นหรือพิจารณาขยายการบริการไปยังกลุ่มเป้าหมายรองต่อไป

ส่วนมาตรการในระยะยาว คือดูในเรื่องข้อบัญญัติต่าง ๆ รวมทั้งทำความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หาแนวทางในการดำเนินการจัดให้มีสวัสดิการเกี่ยวกับด้านการเดินทางของผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น แก้ไขระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ ตลอดจนประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนในการเข้ามาร่วมให้บริการ เป็นต้น ซึ่งภายในปีนี้จะต้องออกวิธีการที่จะทำให้การบริการนี้ยั่งยืนขึ้นและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น. -417-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

อดีตครูจำใจสร้างห้องขังในบ้าน เตรียมคุมลูกติดยา

สลด! อดีตครูวัย 64 ปี จำใจจ้างช่างทำห้องคล้ายกรงขังในบ้าน เตรียมคุมลูกติดยา-พนันออนไลน์ หลังส่งตัวบำบัดกว่า 10 ครั้ง แต่ออกมาก็เหมือนเดิม

หนุ่มใหญ่ควบเก๋งเผลอเหยียบผิดพุ่งทะลุกำแพงอาคารจอดรถดิ่งตกจากชั้น 2

หนุ่มใหญ่ควบเก๋งเผลอเหยียบผิดพุ่งทะลุกำแพงอาคารจอดรถดิ่งตกจากชั้น 2 โชคดีบาดเจ็บเล็กน้อย เจ้าหน้าที่ส่งรักษาตัวที่ รพ.เจ้าพระยา

อาม่าแจ้งความ “หมอดูฮวงจุ้ยชื่อดัง” หลอกทำพิธีสูญ 60 ล้าน

อาม่าวัย 77 ปี โร่แจ้งความเอาผิด “หมอดูฮวงจุ้ยชื่อดัง” หลอกทำพิธี-แนะซื้อวัตถุมงคลแล้วไม่ได้รับของ สูญเงินกว่า 60 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ทนายตั้ม

“ทนายตั้ม” ปรากฏตัวแล้ว บอกไม่สบายใจมี ตร.เฝ้าหน้าบ้าน

ปรากฏตัวแล้ว “ทนายตั้ม” พบตำรวจเหตุมีเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าที่บ้าน พร้อมแจงปมเงิน 39 ล้านบาท ค่าศิลปินจีน ที่แท้เป็นมิจฉาชีพหลอก “เจ๊อ้อย” ปฏิเสธพบคู่กรณี บอกยังไม่พร้อมคุย

เกาะกูด

“ภูมิธรรม” ย้ำจะรักษาผลประโยชน์ทางทะเลของไทยไว้เท่าชีวิต

“ภูมิธรรม” มอง MOU44 คือกลไกที่ดีที่สุด ก่อนย้อนกลุ่มการเมือง พปชร.ไปถามหัวหน้าพรรคตัวเอง เพราะเป็นคนนำเจรจาในปี 57 ยันไม่เคยยกเลิกในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ย้ำรัฐบาลจะรักษาดินแดน-ผลประโยชน์ทางทะเลของไทยไว้เท่าชีวิต

US election

ทรัมป์-แฮร์ริส หาเสียงวันสุดท้าย ก่อนหย่อนบัตรวันนี้

ขณะนี้เหลือไม่ถึง 24 ชั่วโมงก็จะถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 5 พฤศจิกายน ผลสำรวจความเห็นประชาชนต่างชี้ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ และนางคอมมาลา แฮร์ริส