28 ธ.ค. – ก.สาธารณสุข ประชุมชี้แจงระบบลงทะเบียนและเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ผ่านระบบศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน ให้หน่วยบริการทั้งในและนอกสังกัด ก่อนเปิดใช้งานพร้อมกันทั่วประเทศ 1 ม.ค.นี้ เผยจากการติดตามผลในหน่วยงานนำร่องที่จังหวัดเชียงราย พบใช้งานสะดวก ช่วยลดภาระหน่วยบริการ
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงระบบประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ และบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย (Health Insurance for Non-Thai People System : HINT) ว่า การดำเนินงานดังกล่าวเป็นการพัฒนาระบบสาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ ตามนโยบายยกระดับ 30 บาท และนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปี 2567 ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยช่วง Quick Win 100 วัน จะมุ่งขึ้นทะเบียนเบิกจ่ายแบบ Real Time สำหรับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ และการลงทะเบียนเพิ่มการเข้าถึงบริการในกลุ่มประชากรเฉพาะ ซึ่งระบบ HINT สามารถขึ้นทะเบียนและอนุมัติสิทธิได้ภายใน 5 นาที จากเดิมที่ใช้เวลา 1-2 สัปดาห์, พิจารณาผลการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์จากกองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน (Financial Data Hub : FDH) กระทรวงสาธารณสุข ภายใน 24 ชั่วโมง และโอนเงินให้หน่วยบริการได้ภายใน 15 วัน และสามารถลงทะเบียนยืนยันตัวตนสำหรับบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัวในประเทศไทย เพื่อให้เข้าใช้บริการและหน่วยบริการให้บริการด้านสาธารณสุขได้
“การขึ้นทะเบียนบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิและการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้กับหน่วยบริการ ในอดีตมีปัญหาเรื่องความล่าช้า กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) พัฒนาระบบ HINT โดยมีศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน (Financial Data Hub) กระทรวงสาธารณสุข เป็น Back Bone ในการส่งข้อมูล เพื่อลดภาระงาน เพิ่มความสะดวกให้ผู้มารับบริการ และหน่วยบริการได้รับเงินชดเชยค่าบริการทางการแพทย์รวดเร็วขึ้น” นพ.สุรโชค กล่าว
นพ.สุรโชค กล่าวต่อว่า ระบบดังกล่าวจะเปิดใช้งานทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2567 นี้ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงมีการประชุมชี้แจงระบบลงทะเบียนและการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ผ่านระบบศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน (Financial Data Hub : FDH) กระทรวงสาธารณสุข เพื่อซักซ้อมความเข้าใจให้กับหน่วยบริการทั้งในและนอกสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจากการทดลองใช้ระบบของหน่วยบริการนำร่องในจังหวัดเชียงราย คือ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และโรงพยาบาลแม่สาย พบว่าระบบใช้งานค่อนข้างสะดวก ลดภาระหน่วยบริการ มีการ Pre-audit และมีรายงาน Dashboard โดยมีข้อเสนอแนะจากการทดลองใช้จริง เช่น เรื่องการย้ายสิทธิ และการเรียกเก็บ ซึ่งได้นำไปปรับปรุงระบบให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งจะมีการจัดทำข้อตกลงการแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Sharing Agreement : DSA) เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2562 ต่อไป. -411-สำนักข่าวไทย