สธ. 23 พ.ย. – กรมควบคุมโรค เผยพบฝีดาษวานร ยังเพิ่มสูงขึ้น แนะวิธีป้องกัน หากมีอาการให้รีบตรวจ และรักษาฟรีทุกสิทธิ
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย (ข้อมูลผู้ป่วยยืนยัน ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566) พบผู้ติดเชื้อรวม 627 คน เสียชีวิต 2 ราย เป็นคนไทย 566 คน ต่างชาติ 57 คน และไม่ระบุสัญชาติ 4 คน นับเป็นโรคติดต่อที่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ติดจากการสัมผัสใกล้ชิดแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง รวมถึงการใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานร
นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า อาการของโรคฝีดาษวานร ที่พบบ่อย ได้แก่ มีผื่น มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต และอาการคัน โดยจะเกิดขึ้นหลังมีความเสี่ยงประมาณ 5-21 วัน หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจหาเชื้อได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะทราบผลตรวจภายใน 1-5 วัน ระหว่างรอผลตรวจ แนะนำให้แยกของใช้ส่วนตัว และแยกพื้นที่กับผู้ที่อยู่ร่วมบ้าน เพื่อป้องกันการส่งต่อเชื้อ ผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการแล้ว สามารถส่งต่อเชื้อได้ และจะพ้นระยะส่งต่อเชื้อเมื่อตุ่มหรือแผลแห้งและแผลหายดีแล้ว ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์
ทั้งนี้ หากพบว่าติดโรคฝีดาษวานร ควรเข้ารับการรักษาทันที รักษาฟรี ตามสิทธิการรักษา กรณีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ไม่มีโรคอื่นร่วมด้วย จะรักษาตามอาการ และสำหรับผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีระดับเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดซีดี 4 น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. ผู้ป่วยตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีภาวะทางผิวหนัง หรือโรคทางผิวหนังร่วม เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคอีสุกอีใส โรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น หรือมีอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเทคโควิริแมท โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งกรมควบคุมโรคได้สนับสนุนให้กับโรงพยาบาล นำไปรักษาผู้ป่วยดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงอาการแทรกซ้อน แต่ถ้าเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ไม่ใช่สิทธิการรักษาของตัวเอง จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาอื่น ๆ นอกเหนือจากค่ายาต้านไวรัสเทคโควิริแมท
โรคฝีดาษวานรสามารถป้องกันได้โดยไม่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ การสัมผัสใกล้ชิด เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การกอด จูบ คลุกคลี สัมผัสผื่น ตุ่มหรือหนอง เป็นต้น พร้อมแนะนำให้ล้างมือบ่อย ๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422. -สำนักข่าวไทย