กรุงเทพฯ 2 มิ.ย. – รองผู้ว่าฯ กทม. เผยแนวทางป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์ต้องปรับปรุงกระบวนการให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงการแก้กฎหมาย และการสร้างแนวปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ในการพิจารณา ลดการใช้ดุลยพินิจ
รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในเดือนที่ผ่านมามีการร้องเรียนผ่านช่องทางต่างๆ ของ กทม. โดยเฉพาะงานก่อสร้างโยธา คาดว่ามีประมาณ 18 ราย แยกเป็น 2 ประเด็น คือ 1.อาจเป็นเรื่องของการล่าช้า ยื่นไปแล้วใช้เวลาพิจารณานาน 2.ยื่นเรื่องไปแล้วไม่ได้รับการพิจารณา แก้แล้วแก้อีก สุดท้ายก็ไปจบที่การเรียกรับเงิน
สิ่งที่ กทม. ดำเนินการประเด็นที่ 1 คือการยื่นขอออนไลน์ ปรับปรุงกระบวนการให้มีความโปร่งใสขึ้น ลดความล่าช้า จะเห็นไทม์ไลน์ของการพิจารณา เพราะหลายครั้งเจ้าหน้าที่จะอ้างว่าเรามี พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกอยู่แล้ว ถ้าประชาชนยื่นเอกสารครบ เจ้าหน้าที่ก็พิจารณาภายใน 45 วัน ในกรณีขอใบอนุญาตก่อสร้าง เมื่อมีเวลากำหนด เวลาปฏิบัติจริงกลายเป็นว่าประชาชนแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับเรื่อง เจ้าหน้าที่ก็จะอ้างว่าประชาชนยื่นเอกสารไม่ครบ จึงนับหนึ่งไม่ได้ ดังนั้น การถกเถียงอย่างนี้ ถ้าเป็นการยื่นออนไลน์จะมีบันทึก จะติดตามได้ว่ายื่นเอกสารวันไหน ความเห็นของเจ้าหน้าที่ให้ไปเมื่อไร ถ้าเราติดตามได้ก็จะเป็นหลักฐานในการทำงานและประเมินเรื่องความล่าช้าได้
อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้เกิดช่องว่างในการเรียกรับผลประโยชน์ คือการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา ต้องยอมรับว่ามีบางประเด็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับบริบท เป็นกฎหมายที่ล้าสมัย เช่น เการซ่อมแซม ปรับปรุง มีความแตกต่าง คือการซ่อมแซมอาคารต้องเป็นการซ่อมแซมที่ไม่เกี่ยวกับโครงสร้าง แต่การปรับปรุงอาคารมีการกระทบกับโครงสร้าง ต้องขออนุญาต ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังทบทวนกฎหมายว่าถ้าปรับปรุงทำให้อาคารแข็งแรงขึ้น แล้วทำยังไงไม่ต้องไปเข้ากฎหมายใหม่ คือต้องปรับปรุงกระบวนการให้โปร่งใสขึ้น ตรวจสอบได้ ก็จะลดโอกาสในการทุจริตให้น้อยลง การแก้กฎหมาย และการสร้างแนวปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ในการพิจารณา ลดการใช้ดุลยพินิ.-สำนักข่าวไทย