ศูนย์ราชการ 8 มี.ค.- ปลัด สธ. ร่วมเลขา สปสช. แจงการออก พ.ร.ฎ. 6 ฉบับ เข้ามาดูแลงบส่งเสริมป้องกันโรคใน 3 กองทุน เตรียมนำเข้าบอร์ด สปสช.พรุ่งนี้ เพื่อถกเป็นเรื่องเร่งด่วน ชี้แม้เสนอไม่ทัน ครม.ชุดนี้ เป็นรัฐบาลรักษาการก็ไร้ปัญหา ชี้เป็นสิทธิกรณีภาคประชาชนเตรียมเคลื่อนไหว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อม นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. แถลงข่าวการจัดสรรงบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคใน 3 กองทุน ว่าปัจจุบันประเทศมี 3 กองทุนในการดูแลสุขภาพของคนไทย ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพ ดูแลคนไทย 48 ล้านคน,กองทุนประกันสังคม ดูแล 12 ล้านคน และสวัสดิการข้าราชการดูแล 6 ล้านคน ซึ่งในส่วนของการจัดสรรงบประมาณ เรื่องการวินิจฉัย รักษาโรคนั้นไม่มีปัญหา แต่ในส่วนของการส่งเสริมป้องกันโรค พบว่ามีเพียง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เท่านั้น ที่เขียนไว้อย่างชัดเจน แต่ในงบกองทุน ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการกลับไม่มีการเขียน แต่มีมาตรา 66 ของ พ.รบ.หลักประกันสุขภาพ ระบุว่าการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคสามารถบูรณาการดูแลร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ได้ จึงมีการชะลอการจัดสรร พร้อมเตรียมออกร่างพระราชกฤษฎีกาขึ้นมา 6 ฉบับ เพื่อการรองรับ ทำทุกอย่างให้ถูกกฎหมายมากขึ้น และในวันพรุ่งนี้ (9 มี.ค.) เวลา 16.30 น. จะมีการประชุมบอร์ด สปสช.เร่งด่วน เพื่อพิจารณาเรื่องทั้งหมดนี้ จากนี้เสนอให้ รมว.สธ.เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ต่อไป เพื่อดำเนินการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยยืนยันว่าแม้เป็นรัฐบาลรักษาการ เรื่องดังกล่าวในการจัดสรรงบส่งเสริมป้องกันโรคก็จะไม่มีผลกระทบแน่นอน
สำหรับภาพรวมการจัดสรรงบประมาณปี 2566 ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งสิ้น 204,140 ล้านบาท ในจำนวนนี้กว่า 90% เป็นงบฯ ด้านการรักษา 180,000 ล้านบาท ซึ่ง สปสช.มีมาตรการในการกระจายเงินไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะของสำนักงานปลัด สธ.ที่ดูแลประชาชนทั้ง 77 จังหวัด ส่วนอีก 10 % หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณส่งเสริมป้องกันโรค แบ่งเป็นของบัตรทองประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร แต่ส่วนที่มีปัญหาและยังเป็นประเด็นที่ยังทำความเข้าใจไม่ตรงกันคืองบฯ สำหรับข้าราชการและประกันสังคม ประมาณ 5,000 ล้านบาท
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนกรณีชุมชนของเครือข่ายภาคประชาชนเตรียมออกมาเคลื่อนไหวภายใต้หัวข้อ เรื่อง คืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คนไทยทุกคน ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และที่ทำการพรรคภูมิใจไทย ขอชี้แจงว่า โดยปกติมติบอร์ดหรือการหารือเหล่านี้ ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอยู่แล้ว และทราบดี โดยปกติมติบอร์ดจะมีการชี้แจงผ่านเว็บไซต์ของ สปสช. สามารถเข้าไปดูได้โดยไม่มีการปิดบัง แต่ที่มีการชุมนุมเคลื่อนไหว เข้าใจว่าทุกอย่างทำตามสิทธิ ส่วนการรวมงบส่งเสริมป้องกันโรคมาบริหารจัดการร่วมกันนั้น เชื่อว่าไร้ปัญหา ตรงกันข้ามสามารถจัดสรรงบประมาณได้ง่ายขึ้น และการส่งเสริมป้องกันโรคใช้งบประมาณน้อยกว่าการรักษาพยาบาล.-สำนักข่าวไทย