สปสช. 3 พ.ค.- บอร์ด สปสช. ไฟเขียวใช้เงิน กปท. จัดทำโครงการเพื่อลดผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ หนุนนโยบาย “ทศวรรษมาตรการการชะลอไตเสื่อม เพื่อลดผู้ป่วยโรคไตรายใหม่” พร้อมเดินหน้า “มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้บริการไตวายเรื้อรัง” เริ่ม 15 พ.ค.นี้
ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วันที่ 2 พฤษภาคม 2565 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน มีมติเห็นชอบข้อเสนอการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและชะลอจำนวนผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ และมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนมาตรการนี้ และให้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ที่ยังไม่มีแผนการใช้จ่าย เพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว โดยจัดทำโครงการที่ชัดเจนและเริ่มดำเนินการภายในเดือน พ.ค.2565 พร้อมประสานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในการขับเคลื่อนนโยบายนี้
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ บอร์ด สปสช.เห็นชอบให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสิทธิบัตรทองที่ได้รับการกำหนดให้บำบัดทดแทนไตด้วยวิธีล้างไตทางช่องท้อง แต่ไม่สมัครใจรับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีดังกล่าว และเลือกที่จะจ่ายเงินเองเพื่อฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ให้สามารถรับบริการฟอกเลือดได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่งก็จำเป็นต้องดำเนินมาตรการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยเฉพาะเรื่องไต เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่อาจเข้าสู่ระบบการรักษาในอนาคต ซึ่งในเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา บอร์ด สปสช.เห็นชอบมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้บริการไตวายเรื้อรัง และ มอบหมาย สปสช. ดำเนินการและจัดทำข้อเสนอนโยบายการจัดระบบดูแลโรคไตทั้งระบบ ตั้งแต่บริการด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การทบทวนเกณฑ์การเข้าสู่การรักษาการบำบัดทดแทนไต รวมทั้งการสนับสนุน เร่งรัด มาตรการป้องกันและชะลอจำนวนผู้ป่วยโรคไตรายใหม่
ประกอบกับคณะกรรมการกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระดับประเทศ (คณะกรรมการ 7×7) มีมติเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 เห็นชอบนโยบาย “ทศวรรษมาตรการการชะลอไตเสื่อม เพื่อลดผู้ป่วยโรคไตรายใหม่” ซึ่งมอบหมายหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทุกระดับ จัดบริการคลินิกโรคไตเรื้อรัง (CKD Clinic) แบบบูรณาการ โดยขอรับสนับสนุนงบประมาณจาก กปท. ตลอดจนมอบหมายให้ สปสช.จัดทำตัวอย่างโครงการเพื่อให้หน่วยบริการดำเนินการขอรับงบประมาณจาก กปท. ตลอดจนประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมการสนับสนุน หลังจากนั้นคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ของ สปสช. เห็นชอบเรื่องดังกล่าวและเสนอเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ให้ความเห็นชอบในครั้งนี้
ทั้งนี้ กลไกและกิจกรรมเพื่อชะลอไตเสื่อมตามมาตรการป้องกันและชะลอจำนวนผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ จะประกอบด้วย 1.คณะกรรมการนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ รับทราบนโยบาย “ทศวรรษมาตรการการชะลอไตเสื่อม เพื่อลดผู้ป่วยโรคไตรายใหม่” และสนับสนุนการขับเคลื่อนในพื้นที่ 2.สธ.ขับเคลื่อนนโยบายให้หน่วยบริการทุกระดับจัดบริการ CKD clinic Model ในชุมชน แบบ Multi function โดยทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด และโภชนากร 3.โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ท้องถิ่น และองค์กรเอกชน สามารถเสนอโครงการเพื่อรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กปท. โดยในโครงการจะมีกิจกรรมการค้นหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ไตจะเสื่อม เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ที่ใช้ยารักษาโรคเป็นเวลานาน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภค การเยี่ยมบ้านเพื่อให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ สามารถดูแลตนเองได้ ลดพฤติกรรมเสี่ยง การเฝ้าระวังการใช้สมุนไพร ยา อาหาร และส่งเสริมการออกกำลังกาย การรณรงค์สื่อสารด้านสุขภาพ การจัดการสิ่งแวดล้อม การให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ อาสาสมัครประจำครอบครัว ผู้ดูแลผู้ป่วย
ในขณะเดียวกัน สปสช. จะจัดทำตัวอย่างโครงการที่มีกิจกรรมที่เหมาะสมในการชะลอไตเสื่อม เพื่อให้หน่วยบริการใช้ในการขอรับงบประมาณจาก กปท. การขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับพื้นที่ที่มีความพร้อมและมีงบประมาณสนับสนุน ส่วนพื้นที่ที่มีงบประมาณไม่เพียงพอ สปสช.จะพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้สามารถดำเนินการตามนโยบายได้ ตลอดจนประสานกรมวิชาการของ สธ.ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การสนับสนุนด้านวิชาการและกำกับติดตามการดำเนินงานของหน่วยบริการ รวมทั้งประสานกับ สถ. และ มท. เพื่อให้การสนับสนุนการดำเนินงาน รวมทั้งร่วมกำกับติดตามผลการดำเนินงานของ อปท.
“จากมติ บอร์ด สปสช. ที่เห็นชอบนี้ สปสช.จะเร่งดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการใช้เงิน กปท. เพื่อจัดทำโครงการค้นหาและชะลอผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ทันที ทั้งปัจจุบัน กปท.มีเงินงบประมาณคงเหลือและยังไม่มีแผนใช้เงินอยู่ประมาณ 2,315 ล้านบาท หลังจากนี้จะขอความร่วมมือ สธ. และ มท. ในการชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยบริการหรือ อปท. ต่อไป โดยจะเริ่มเปิดให้เสนอโครงการขอรับงบประมาณได้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.2565 เป็นต้นไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
สอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทองได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ ทั้งไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso) หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand.-สำนักข่าวไทย