สำนักข่าวไทย 27 ก.พ. – จิตแพทย์ชี้แม่เด็ก 8 เดือน ไม่ใช่ “ไซโคพาธ” บุคลิกภาพต่อต้านสังคมใช้ในคนก่ออาชญากรรมโชกโชน แต่ถือเป็นอุทาหรณ์แม่วัยใสออกนอกระบบ และไม่รู้สิทธิทั้งสวัสดิการและข้อกฎหมายว่าสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้หากไม่พร้อม
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีแม่อายุ 17 ปี สารภาพทำลูกชายอายุ 8 เดือน เสียชีวิต ว่า นี่เป็นอุทาหรณ์เรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การท้องไม่พร้อม ทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพจิตสำคัญ และเป็นปัญหาทั้งระบบที่กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องร่วมดูแล เนื่องจากกรณีดังกล่าวพบว่าเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา ซึ่งปกติจะมี พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 และกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ ดังนั้นหากเด็กยังอยู่ในระบบการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจะต้องเข้ามาดูแล แต่ในกรณีที่หลุดจากระบบ ก็ต้องมีหน่วยงานอื่น ทั้งสาธารณสุข และ พม. มาให้คำปรึกษาตั้งแต่ที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ และการดูแลหลังคลอดด้วย ยังไม่นับรวมถึงปัญหาครอบครัวที่อาจจะมีอยู่เดิม หรือปัญหาที่กำลังจะตามมาอีกด้วย
นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีการพูดต่อๆ กันว่า ผู้ก่อเหตุเป็นไซโคพาธนั้น อยากให้สังคมเข้าใจว่า ไซโคพาธเป็นเรื่องบุคลิกภาพต่อต้านสังคม มักใช้ในกลุ่มที่มีประวัติอาชญากรรมโชกโชน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน หากมีภาวะนี้จะไม่ได้รับการยกเว้นโทษ ยกเว้นว่ามีปัญหาจิตฟั่นเฟือน หรือมีจิตบกพร่อง ถึงจะได้รับข้อยกเว้น อย่างไรก็ตาม การดูแลเด็ก เยาวชนที่กระทำผิดนั้น ตามกฎหมายจะเน้นเรื่องการฟื้นฟูเยียวยามากกว่าการลงโทษ และมุ่งให้เกิดการพัฒนาตนเอง สภาพจิตใจ ให้สามารถกลับมาอยู่ในสังคมได้ ดังนั้นบทลงโทษจึงให้ไปอยู่ที่สถานพินิจฯ
นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า ส่วนข้อสงสัยเรื่องปัญหาซึมเศร้าหลังคลอดที่อาจจะเกิดกับแม่ทุกคนนั้น ความรุนแรงพบได้ประมาณ 10-20% แต่ตัวแปรสำคัญคือ ภาวะดังกล่าวเป็นผลกระทบจากการตั้งครรภ์ที่ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง เป็นการซึมเศร้าเฉพาะตน ทำให้ตำหนิตนเอง และทำร้ายตัวเอง ส่วนการทำร้ายคนอื่นนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก อย่างไรก็ตาม คาดว่ากรณีของแม่เด็กวัย 8 เดือนนั้น อาจจะไม่รู้ว่ามีสวัสดิการช่วยเหลือกรณีท้องไม่พร้อมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย หรือหากประสงค์จะตั้งครรภ์ต่อก็จะมีระบบดูแลต่อ มีหน่วยงานเข้าไปดูแล รวมถึงมีเงินสวัสดิการสำหรับเด็กแรกคลอด เดือนละ 600 บาท เป็นเงินเบื้องต้นเท่านั้น นอกจากนี้ยังจะมีการอบรมอาชีพเพื่อให้ดูแลตัวเองได้ระยะยาว ซึ่งเป็นบทบาทของ สธ. ร่วมกับ พม. ดังนั้น สิ่งสำคัญคือความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะในการดูแลปัญหาการท้องไม่พร้อม. -สำนักข่าวไทย