สำนักข่าวไทย 13 ก.พ.- “นพ.ประกิต” ย้ำสถานะบุหรี่ไฟฟ้าก่ออันตรายยิ่งกว่าบุหรี่ธรรมดา นิโคตินที่ได้รับจากบุหรี่ไฟฟ้าติดง่ายกว่าเฮโรอีน และไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ หนำซ้ำกลายเป็นติดทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา ด้าน สคบ.เตรียมดันใช้กฎหมายฟอกเงินร่วมแก้ปัญหาลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สสส. พร้อมด้วย นายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผอ.ส่วนบังคับคดี หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ สคบ. กล่าวในการเสวนาสื่อมวลชน เรื่อง “สางปม บุหรี่ไฟฟ้า …หลากปัญหารอวันแก้ ” ว่าสถานการณ์ความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในทุกวันนี้ ยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินแน่นอน 99% และไม่ได้มีส่วนช่วยให้เกิดการเลิกบุหรี่ได้ โดยบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันมี 2 ชนิดได้แก่ 1.บุหรี่ไฟฟ้าแบบชนิดใช้น้ำยา ที่มีแบบเติมน้ำยา หรือกลิ่น หรือพอร์ต ที่เป็นที่นิยมในวัยรุ่น เนื่องจากมีราคาไม่แพง และสูบได้หลายครั้ง 2.บุหรี่ไฟฟ้าที่มีลักษณะเป็นผงแห้ง หรือ Heated tobacco products ใช้ความร้อนในการเผาไหม้ใบยาที่บด และเติมสารเคมี ซึ่งทุกประเภทของบุหรี่ไฟฟ้าล้วนแต่มีการเผาไหม้ใช้ความร้อนสูง ทำให้เกิดอันตรายต่อหลอดเลือดและระบบทางเดินหายใจ เพราะละอองลอยมีสารโลหะหนักหลายชนิด เช่น เหล็ก ทองแดง นิกเกิล สังกะสี โครเมียม และตะกั่ว กระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ นอกจากนี้ ยังพบสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของสมองเด็กและวัยรุ่น บุหรี่ไฟฟ้าหลายยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับสูบบุหรี่ 20 มวน และบางยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับการสูบบุหรี่ถึง 50 มวน
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต กล่าวว่า สารนิโคตินช่วยกระตุ้นให้สมองหลั่งสารโดปามีน ทำให้กระปรี้กระเปร่า ซึ่งตามปกติสารโดปามีนจะเกิดขึ้นเมื่อมีการออกกำลังกาย แต่นิโคตินในบุหรี่ เมื่อมีการสูบเข้าไป แม้กระตุ้นให้เกิดโดปามีน แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อเลิกสูบบุหรี่ เมื่อเกิดการติด สมองชินกับนิโคตินก็เป็นสาเหตุให้คนหงุดหงิดง่าย เมื่อไม่ได้รับนิโคติน
ทั้งนี้ พบว่าอันตรายของสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อเข้าสมองก่อให้เกิดการเสพติดได้ง่ายกว่าเฮโรอีน กัญชา หรือโคเคน เพียงรับนิโคตินแค่ 7 วินาที และปัจจุบันแม้แต่บริษัทเองก็ยังไม่มีงานวิจัยมาสนับสนุนว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ โดยในต่างประเทศพบว่ามี 32 ประเทศทั่วโลก ที่มีความตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ภัย และห้ามสูบอย่างเด็ดขาด และพบว่าเมื่อมีการเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว สุดท้ายก็หันไปสูบบุหรี่ และคนที่เคยสูบบุหรี่อยู่แล้วก็ยังมีโอกาสสูบบุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย ทั้งนี้ พิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าก็เหมือนกับบุหรี่ มีโอกาสเกิดได้ทั้งมะเร็ง หัวใจ และหลอดเลือด แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 20-30 ปี โดยสถิติคนที่สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา พบว่า เกาหลีใต้มีการสูบ 85% เนเธอร์แลนด์สูบ 72% นิวซีแลนด์ 64% อังกฤษ 55% สหรัฐ ผู้ใหญ่ 41% วัยรุ่น 64 % และ ไทย 33%
นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่า สถานะของบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบัน คือ ห้ามขายห้ามใช้บริการ และเป็นของต้องห้าม โดยใช้อำนาจตามกฎหมายของกรมศุลกากร กระทรวงพาณิชย์ ในปี 2557 บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสิค้าต้องห้ามนำเข้าและส่งออก, ส่วนปี 2559 ยังมีการออกกฎหมายกำชับซ้ำไปอีก ห้ามนำเข้า และห้ามนำผ่าน ก็หมายความว่าแม้บุหรี่ไฟฟ้าจะผ่านเข้ามาประเทศไทย เพื่อส่งต่อไปยังประเทศอื่นก็ทำไม่ได้ ทุกอย่างเท่ากับมีครอบครองคือการลักลอบ ทั้งนี้สคบ.พยายามจับและยึดของกลางบุฟรี่ไฟฟ้ามาโดยตลอด ซึ่งก็ได้รับร้องเรียนจากผู้ปกครอง และพบการใช้ในสถานศึกษา โดยการซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้า ทำได้ง่ายผ่านระบบออนไลน์ ทำให้สารพิษเหล่านี้ถึงมือเยาวชน ทาง สคบ.จึงร่วมกับตำรวจ ในการตรวจตรา และสกัดกั้น ด้วยการวางระบบปิดกั้นการมองเห็นในช่องทางออนไลน์ ทำให้เมื่อค้นหาคำว่าบุหรี่ไฟฟ้าเข้าถึงยากขึ้น แต่ก็พบว่าปัจจุบันมีการเสิร์ชค้นหาบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบของยี่ห้อ หรือบางสถานที่อย่างคลองถม มีการโชว์ภาพ แต่สินค้าอยู่อีกที่ ซึ่งก็มีความผิดข่ายข่ายโฆษณาชักชวน
นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการจับปรับบุหรี่ไฟฟ้า มีโทษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.ความผิดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุและพาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้าด้วย 3.มีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ เตรียมเสนอเพิ่มการขยายผลหลังจากการจับกุมในส่วนเรื่องการฟอกเงิน โดยจะส่งเรื่องให้ ตำรวจ และ ปปง.ดำเนินการ เนื่องจากเป็นการขยายผลหลังมีการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าที่ จ.พระนครศรีอยุธยา สามารถยึดบุหรี่ไฟฟ้าได้มูลค่า 84 ล้านบาท หากคิดว่าสามารถจับกุมได้อีก คาดว่ามูลค่าของบุหรี่ไฟฟ้าอาจสูงหลายพันล้านบาท โดยข้อมูลการลักลอบนำเข้ามาตามแนวชายแดน.- สำนักข่าวไทย