สธ.10 ก.พ.- รองปลัด สธ. เผยทีมแพทย์ส่วนหน้าของไทย ถึงนครอิสตันบูลแล้ว พร้อมประเมินสถานการณ์ความช่วยเหลือทางการแพทย์ส่งมายังทางการ ไทยเพื่อพร้อมให้การช่วยเหลือตรงความต้องการ เบื้องต้น 11 ก.พ.นี้ จัดส่งทีมแพทย์ทหารเข้าไปช่วยเหลืออีก 20 นาย แต่ที่เตรียมจัดส่งอุปกรณ์ยาและเวชภัณฑ์ให้ตุรกีรวม 30 รายการ มูลค่า 3 ล้านบาท
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิชย์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมเตรียมความพร้อมช่วยเหลือค้นหาเหตุแผ่นดินไหวในประเทศตุรกี ว่า หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมา (9 ก.พ.) ทางการไทยได้ส่งทีมแพทย์ Urban Search and Rescue (USAR) 3 คน นำโดย นพ.เกษมสุข โยธาสมุทร นายแพทย์ชำนาญการโรงพยาบาลเลิดสิน ซึ่งเป็นส่วนล่วงหน้าเดินทางไปยังนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เพื่อสำรวจความเสียหายและสำรวจความจำเป็นความต้องการในการให้การช่วยเหลือเพื่อรายงานมายังส่วนกลางในการจัดส่งทั้งทีมแพทย์, ทีมค้นหา, อุปกรณ์ยาและเวชภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่เนื่องจากสถานการณ์ภัยพิบัติ อีกทั้งสภาพอากาศติดลบต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียส เบื้องต้นทีมส่วนล่วงหน้าจะประจำการ 7-14 วัน โดยเมื่อคืนนี้บนสายการบิน Turkish Airlines เจ้าหน้าที่สายการบินได้กล่าวขอบคุณทีมแพทย์ไทยที่เดินทางไปเพื่อประเมินสถานการณ์และให้การช่วยเหลือ
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ทราบว่าในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ ทางทหารจะมีการจัดส่งทีมแพทย์อีกชุดหนึ่งเข้าไปให้การช่วยเหลือ ซึ่งจะมีทั้งทางทหาร 3 นาย, แพทย์ทหารอีก 3-4 นาย คาดว่าประกอบไปด้วยทีมแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน, แพทย์ออโธปิดิกส์เด็ก, ศัลยแพทย์ และอายุรแพทย์เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องคาดว่ารวมจัดส่งไปประมาณ 20 นาย ส่วนการร้องขอเวชภัณฑ์ยาและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นทางการตุรกีได้ประสานกับกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ มีรวมกว่า 200 รายการ แต่คาดว่าทางการไทยจะสามารถจัดส่งให้ได้ประมาณ 20-30 รายการ ใช้งบประมาณกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นส่วนของงบกลาง ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า จากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) และกรมการแพทย์ ทราบว่าทางการตุรกีมีการร้องขอทีม Thailand EMT ระดับ 2 (ต้องสามารถตั้ง รพ.สนาม และให้การผ่าตัดได้ในที่เกิดเหตุการณ์) ไปให้การช่วยเหลือ แต่เนื่องจากทีมปฏิบัติการของไทยผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ระดับ 1 (สามารถให้การช่วยเหลือดูแล) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังจะต้องมีการประเมินสถานการณ์ ประชุมร่วมกันเป็นระยะ เพื่อจัดส่งสิ่งของและทีมแพทย์หรืออุปกรณ์ต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการและทีมที่ปฏิบัติหน้าที่จะต้อง มีการผลัดเปลี่ยนและระยะเวลาการกลับที่ชัดเจนคล้ายกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ กรณีภัยพิบัติเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลเมื่อหลายปีก่อน. -สำนักข่าวไทย