สธ.26 ธ.ค. – สธ. จับมือ สสส., ราชวิทยาลัยสูตินรีฯ, สถาบันวิจัยประชากร ส่งเสริมหญิงตั้งครรภ์มีกิจกรรมทางกาย เดิน ปั่นจักรยานอยู่กับที่ ออกกำลังกายให้ได้ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ช่วยให้คลอดง่าย น้ำหนักลงเร็ว ทารกในครรภ์ตัวยาว ลดการเกิดเบาหวานในหญิงครรภ์
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการลงนามความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงานได้แก่ กรมอนามัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยประชากรสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ขับเคลื่อนแนวปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงหลังคลอดให้มีสุขภาพแข็งแรง โดยแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ มีการออกกำลังตามช่วงอายุครรภ์ ส่งผลให้ลดอาการไม่พึงประสงค์จากการตั้งครรภ์ ช่วยให้จิตใจแจ่มใส ร่างกายกระฉับกระเฉง ช่วยให้คลอดง่าย ช่วยให้รูปร่างหลังคลอดกระชับ น้ำหนักลงเร็ว เข้ารูปสวยงาม
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้เปลี่ยนความเชื่อและความคิดที่ว่า คนท้องไม่ควรขยับร่างกายมาก เดี๋ยวจะเกิดอันตราย ทำให้คนตั้งครรภ์ส่วนใหญ่นั่งๆ นอน ๆ ไม่ได้ ขยับร่างกาย ทั้งที่ความจริงแล้ว การออกกำลังกายในหญิงครรภ์ ช่วยให้ระบบไหลเวียนของแม่ดี ส่งผลไปยังทารกในครรภ์ ช่วยให้การสูบฉีดโลหิตของทั้งแม่และลูกดี นอกจากนี้ ยังช่วยให้การเผาผลาญในหญิงตั้งครรภ์ดีขึ้น ลดการเกิดโรคในขณะตั้งครรภ์ อาทิ เบาหวานในคนท้อง ลดภาวะบวม และยังส่งเสริมพัฒนาการในเด็กให้ดี โดยน้ำหนักตัวของหญิงครรภ์ที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 4-7 กิโลกรัม ทารกแรกคลอดน้ำหนักไม่น้อย 2,500 กิโลกรัม
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์มีการออกกำลังกาย เพราะจะช่วยทารกในครรภ์ตัวยาวขึ้น โดยการออกกำลังกายให้ได้ 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ 30 นาทีต่อวัน ทั้งการเดิน ขี่จักรยานอยู่กับที่ หรือโยคะทางน้ำ ซึ่งผลของการออกกำลังกายจะทำให้หญิงครรภ์ คลอดบุตรง่าย มีสุขภาพแข็งแรงทั้งแม่และลูก โดยช่วงครรภ์ไตรมาสที่ 1 ซักผ้า กวาดบ้าน เดิน หรือ แอโรบิค เริ่มจากช้าไปเร็วเบาไปหนัก ส่วนไตรมาสที่ 2 ปั่นจักรยาน วิ่ง ยกของเบา เดิน ว่ายน้ำ โยคะ ส่วนการแอโรบิค ทำกิจกรรมได้เหมือนผู้ใหญ่ปกติ และไตรมาสที่ 3 เดิน ว่ายน้ำ โยคะ การแอโรคบิค ให้ระวังเรื่องการหกล้ม หรือการกระแทกที่ท้อง. -สำนักข่าวไทย