กรุงเทพฯ 22 ธ.ค. – “ตรีนุช” รมว.ศึกษาธิการ ชื่นชมเวทีแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best practices) ของสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ย้ำการศึกษาต้องสอนให้เด็กคิดเป็น-ทำเป็น
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดนิทรรศการกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best practices) ของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมมอบนโยบายการขับเคลื่อนการศึกษาและเยี่ยมชมผลงานแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของสถานศึกษา 13 แห่ง โดยมีผู้บริหาร สพฐ. ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในพื้นที่ กทม. เข้าร่วม ณ ห้องประชุมอาคารนานาชาติ โรงเรียนโพธิสารพิทยากร
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขับเคลื่อนการศึกษาโดยมุ่งเน้นที่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา และยกระดับคุณภาพทางการศึกษา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมความพร้อมบุคคล ที่เป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ ให้มีความสามารถที่จะเติบโตเป็นผู้นำ พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงทุกมิติที่จะเกิดขึ้นกับบริบทของสังคมในโลกศตวรรษที่ 21
“เป้าหมายทางการศึกษาต่อไป ต้องมุ่งการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา โดยเฉพาะโครงการโรงเรียนคุณภาพที่จะช่วยสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างกันอย่างเข้มแข็ง พร้อมการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย ตามความถนัด ความสนใจ และเหมาะสมกับผู้เรียน โดยนำการเรียนการสอน รูปแบบ Active Learning มาใช้ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์และสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ รวมถึงเพิ่มความสำคัญในวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง โดยเรียนรู้ตามความพร้อมและเหมาะสมในแต่ละบริบทพื้นที่ ตลอดจนสนับสนุนการเรียนการสอนหลักสูตรทวิศึกษาและโครงการอาชีวะอยู่ประจำเรียนฟรีมีอาชีพ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะอาชีพมากขึ้น ทั้งนี้ ดิฉันขอบคุณทุกฝ่ายที่เป็นพลังผลักดันขับเคลื่อนงาน โดยมีเป้าหมายของการจัดการศึกษาร่วมกัน คือ เพื่อคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ” รมว.ศธ. กล่าว
นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า การจัดงานนิทรรศการกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้ เป็นกิจกรรมที่ดีที่สถานศึกษาในสังกัดของ สพฐ. ที่สามารถนำนโยบายไปลงมือปฏิบัติได้เป็นอย่างดีและเหมาะสมตามสภาพบริบทของแต่ละแห่ง ซึ่งภายในงานมีการนำเสนอผลงานแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศจากสถานศึกษาต่างๆ เช่น แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมสู่อาชีพระดับมัธยมศึกษา โดยเตรียมความพร้อมและค้นหาความถนัดความสนใจในระดับ ม.ต้น และออกแบบ 10 แผนการเรียนเตรียมอาชีพ อาทิ แผนการเรียนเตรียมแพทย์, เตรียมเภสัช-สหเวช, เตรียมวิศวะ, เตรียมสถาปัตย์ ฯลฯ จากโรงเรียนโพธิสารพิทยากร ครูตำรวจที่สามารถมาถึงสถานศึกษาได้ภายใน 5 นาที ที่ได้รับแจ้ง จากโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางเขน การจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์โดยบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับหลักสูตรสถานศึกษา พร้อมต่อยอดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สู่งานอาชีพ จากโรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา การจัดทำห้องเรียนอาชีพร่วมกับวิทยาลัยสารพัดช่างพระนครเพื่อการมีงานทำ จากโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้จะช่วยเปิดมุมมองในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและยกระดับคุณภาพการศึกษาได้ต่อไป. -สำนักข่าวไทย