กรุงเทพฯ 19 ธ.ค. – รมช.สาธารณสุข นำทีมกรมการแพทย์แผนไทยฯ อย. กรมอนามัย หารือร่วมกับกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ กรมการปกครอง ทำความเข้าใจประกาศสมุนไพรควบคุม “ช่อดอกกัญชา” และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ ป้องกันการนำกัญชามาใช้ในทางที่ผิด ลดข้อกังวลผู้ปฏิบัติหน้างาน
วันนี้ (19 ธันวาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมหารือนโยบายและแนวทางสร้างความเข้าใจการบังคับใช้กฎหมาย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ร่วมกับ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย นายณัฐพงศ์ พุฒแก้ว รองอธิบดีอัยการ นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง พล.ต.ต.บรรพต มุ่งขอบกลาง รองผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (รอง ผบช.ปส.) ผู้แทนจาก อย. และกรมวิชาการเกษตร
ดร.สาธิต กล่าวว่า ได้เชิญหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมมาหารือเพื่อกระชับประกาศเกี่ยวกับ “กัญชา” โดยหลักคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ที่กำหนดเฉพาะส่วนของช่อดอกกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ออกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 โดยเฉพาะกรณีการศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปช่อดอกกัญชาเพื่อการค้า ต้องขอรับใบอนุญาต นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเงื่อนไขให้ต้องจัดทำข้อมูลแหล่งที่มา การนำไปใช้ ห้ามจำหน่ายให้เด็กอายุน้อยกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร นักเรียน นิสิต นักศึกษา ห้ามจำหน่ายเพื่อการสูบในสถานที่ประกอบการ ห้ามจำหน่ายผ่านเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติหรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ห้ามโฆษณาในทุกช่องทาง ห้ามจำหน่ายในศาสนสถาน หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์และสวนสนุก หากไม่ปฏิบัติตาม ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาต ครั้งละไม่เกิน 90 วัน หากยังฝ่าฝืนประกอบกิจการต่อไป ถือเป็นการกระทำผิดร้ายแรง จะมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต หากไม่ขออนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ที่ผ่านมายังมีข้อกังวลและเป็นห่วงผู้ปฏิบัติหน้างาน ซึ่งได้หารือกับอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ แล้วว่าต้องดำเนินการให้เป็นตัวอย่าง จึงมีการร่วมมือกับ ผอ.เขตใน กทม. และ สน.ในพื้นที่ ตรวจสอบ จับกุมผู้ประกอบการ นำไปสู่การฟ้องศาลแขวงและมีคำพิพากษาแล้ว นอกจากนี้ยังหารือถึงกรณีผู้ต้องหาไม่รับสารภาพว่าเป็นช่อดอกหรือไม่ ซึ่งต้องหาทางออกเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมั่นใจว่าจะไม่ถูกฟ้องกลับ โดยรองอธิบดีอัยการแนะนำว่าต้องเข้ากระบวนการพิสูจน์ให้ทราบ หากตรวจสอบพบหลักฐานเพียงพอว่าเป็นช่อดอกกัญชา มีพยานหลักฐานแวดล้อม ฟ้องได้ อัยการจะดำเนินการฟ้องศาลต่อไป” ดร.สาธิต กล่าว
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า ส่วนผู้ปฏิบัติมีข้อเสนอให้ทำความชัดเจนข้อปฏิบัติในแง่ข้อกฎหมาย อัตราโทษ และวิธีปฏิบัติ ซึ่งจะมีการดำเนินการไปสู่ระดับจังหวัด เพื่อให้เข้าใจและปฏิบัติได้ชัดเจนมากขึ้น ส่วนต้องออกประกาศเพิ่มเติมหรือไม่ ได้มอบหมายรองอธิบดีกรมอนามัยพิจารณาเรื่องประกาศกลิ่นควันเป็นเหตุรำคาญ ว่าจะลดขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนได้หรือไม่ หากมีการสูบในที่สาธารณะ เพราะต้องมีการแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ระงับเหตุก่อน หากฝ่าฝืน จึงจะมีการเปรียบเทียบปรับ อย่างไรก็ตาม ต้องดูฐานอำนาจของ พ.ร.บ.การสาธารณสุขด้วย
ทั้งนี้ จะเร่งใช้ทุกประกาศที่มีในการจัดการควบคุมให้การใช้ช่อดอกให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่แพร่หลายไปสู่กลุ่มคนและสถานที่ที่คิดว่าเสี่ยงจะมีผลกระทบในเชิงสังคม เพื่อควบคุมป้องกันการใช้กัญชาในทางที่ผิดในช่วงที่ยังไม่มีร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ออกมา
ด้าน นพ.ธงชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สื่อสารกับสถานีตำรวจท้องที่ให้ทราบแนวทางการปฏิบัติ กรณีจับกุมและดำเนินคดีตามประกาศฯ ว่าการจับกุมต้องมีพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาฯ เป็นผู้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการจับกุม ซึ่งจากการ
ลงพื้นที่ร่วมกับสถานีตำรวจชนะสงครามและทองหล่อ มีการจับกุมเอาผิด 10 ราย ดำเนินคดีส่งฟ้องศาลและตัดสินแล้วทั้ง 10 ราย แบ่งเป็น สน.ชนะสงคราม กรณีถนนข้าวสาร 4 ราย ศาลตัดสินสั่งปรับ 5,000 บาท และ สน.ทองหล่อ 6 ราย ศาลตัดสินจำคุก 2 เดือน รอลงอาญา 2 ปี และปรับ 5,000 บาท
ส่วน 2 ราย ย่านถนนข้าวสาร เป็นเรื่องไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาต ข้อ 3(5) เนื่องจากจัดให้มีการสูบในสถานที่ประกอบการ ผู้อนุญาตอยู่ระหว่างดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองพักใช้ใบอนุญาต ทั้งนี้ จะมีการตรวจสอบติดตามในพื้นที่ต่างจังหวัดอื่นๆ ต่อไป ที่ระหว่างนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใบอนุญาต.-สำนักข่าวไทย