สำนักข่าวไทย 8 พ.ย.- หมอประสานเสียงเตือนคอนเทนต์กินค้างคาวเปิบพิสดาร เสี่ยงติดเชื้อจากสัตว์สู่คน ไม่แนะนำรับประทาน อาจได้รับเชื้อจากการปรุง ย้ำปกติค้างคาวไม่ใช่สัตว์จับง่าย เพราะบินสูง ยกเว้นป่วย เสี่ยงติดเชื้อได้ทั้งนิปาห์ไวรัส โคโรนาไวรัส
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงกรณีครูทำคอนเทนต์พิสดารกินค้างคาวโชว์ และมีการอ้างว่าพื้นที่อีสานรับประทานค้างคาวเป็นเรื่องปกติ สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความปลอดภัย ระบุการรับประทานสัตว์แปลก มีอันตรายอย่างแน่นอน เพราะสัตว์อยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งบางชนิดก็อาจนำเชื้อจากสัตว์มาสู่คนได้ โดยเฉพาะค้างคาวที่มีไวรัสเยอะมาก เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีโบลา (Ebola) ไวรัสนิปาห์ (Nipah virus ) เกิดโรคไข้สมองอักเสบ รวมถึงไวรัสโคโรนา (Corona virus) ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ได้ด้วย และอีกหลายตัว ดังนั้น ไม่ควรไปสัมผัสกับค้างคาว เพราะสัตว์ป่วยมักไม่แสดงอาการ จึงไม่แนะนำให้กินสัตว์ป่าทุกชนิด เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าไปจับ อย่างค้างคาวที่อยู่ในถ้ำ เป็นระบบปิด อยู่กันเป็นกลุ่มก้อน ขับถ่ายอยู่ในถ้ำ ก็มีโอกาสสัมผัสเชื้อได้ เพราะเคยเจอว่ามีเชื้อไวรัสโคโรนาอยู่ในปัสสาวะค้างคาว แต่ยังไม่กระโดดมาคน แต่วันหนึ่งถ้าไวรัสเก่งขึ้น ก็แพร่มาสู่คนได้ ที่ผ่านมามีรายงานพบเชื้อโรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) ทำให้เกิดเชื้อราในคนที่เข้าไปในถ้ำค้างคาว เกิดภาวะปอดอักเสบ ส่วนก่อนจะนำค้างคาวมาปรุงสุกก็ต้องผ่านขั้นตอน เช่น ถลกเนื้อ ล้างเนื้อ ซึ่งก็มีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของค้างคาว โดยปัญหาของโรคจากสัตว์ป่าพบมากในแอฟริกา
ผศ.นพ.โอภาส ยังกล่าวว่า ไม่แนะนำว่าควรทำคอนเทนต์แบบนี้ เพราะมีโอกาสจะที่ปนเปื้อนเชื้อโรคได้ ขนาดนักวิจัยที่ไปเก็บตัวอย่างสัตว์ป่ายังต้องสวมชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ซึ่งคนทั่วไปแทบไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเลย ฉะนั้นก็เสี่ยงอันตรายได้ รวมถึงการกินอาหารไม่สุกก็มีโอกาสติดเชื้อโรคทั้งแบคทีเรียและไวรัส ดังนั้น สัตว์ป่าทุกอย่างเราต้องปล่อยเขาอยู่ในป่า ไม่ควรสัมผัส หรือบริโภค
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า พฤติกรรมการรับประทานค้างคาวถือว่าไม่ควรรับประทาน เนื่องจากค้างคาวเป็นสัตว์ป่า และปกติค้างคาวมีคลื่นโซนาร์ในตัว ประกอบกับเป็นสัตว์ที่บินสูง ไม่น่าที่จะจับมารับประทานได้ง่าย ถ้าจับได้ง่าย หรือตกลงกับพื้นที่ แสดงว่าค้างคาวตัวนั้นอาจเป็นโรค การติดเชื้อจากค้างคาวก็เหมือนกับการติดเชื้อไข้หวัดนก ที่ไม่ได้เป็นการติดเชื้อจากรับประทาน เพราะการปรุงสุกเชื้อก็ตายหมด แต่เป็นการติดเชื้อระหว่างการปรุงมากกว่า เพราะขั้นตอนการปรุง ต้องจับถอนขน สัมผัสสารคัดหลั่ง ก็อาจเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อทั้งไวรัส และแบคทีเรีย โดยเชื้อไวรัสอันดับที่ 1 ที่จะพบได้ในค้างคาว ได้แก่ นิปาห์ไวรัส (Nipah) รองลงมาโคโรนาไวรัส ซึ่งการติดเชื้อนิปาห์ไวรัสนั้น เคยมีการเกิดขึ้นในประเทศมาเลเซีย และมีคนเสียชีวิต โดยค้างคาวไปแพร่เชื้อในหมู และคนก็ติดเชื้อจากหมู โดยลักษณะหมูเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ก็มีความคล้ายกับคน ดังนั้น ไม่จำเป็นอย่าไปรับประทาน ทานอย่างอื่นดีกว่า เพราะปกติลำพังมูลค้างคาวก็สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้.-สำนักข่าวไทย