อินโดนีเซีย 11 ก.พ.-ชาวอินโดนีเซียจำนวนไม่น้อย ยังคงนิยมกินแกงกะทิค้างคาว ไม่หวั่นสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาด ซึ่งอาจมีที่มาจากสัตว์ป่าเหล่านี้
กิจการร้านอาหารที่ขายเนื้อค้างคาวในเมืองมานาโด บนเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซียยังดำเนินไปด้วยดี โดยไม่หวาดกลัวการระบาดของไวรัสโคโรนา ที่มีต้นตอมาจากตลาดค้าสัตว์ป่าในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ค้างคาว งู และตัวนิ่ม เป็นแหล่งระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญ ตั้งข้อสันนิษฐานว่า ไวรัสโคโรนา อาจมีต้นกำเนิดอยู่ในตัวของค้างคาว และถ่ายทอดสู่คน ได้มากกว่าสัตว์สายพันธุ์อื่น
ผู้ค้าค้างคาวในเมืองมานาโด บอกว่า แม้มีข่าวการระบาดของไวรัสโคโรนา และร้านอาหารหลายแห่ง จะหยุดขายอาหารที่ทำจากเนื้อค้างคาว แต่พวกเขายังคงขายเนื้อค้างคาวได้ดี โดยเนื้อค้างคาวจะถูกนำไปปรุงเป็นส่วนประกอบหลัก ในเมนูยอดฮิตอย่างแกงกะทิค้างคาว หรือที่ชาวบ้านท้องถิ่นเรียกกันว่า paniki เป็นอาหารยอดนิยมในหลายพื้นที่ของอินโดนีเซีย นอกจากนี้ เนื้อค้างคาวยังถูกนำมาใช้เป็นยา เพราะชาวบ้านเชื่อว่า เนื้อค้างคาวสามารถรักษาโรคหืด ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะไม่แพร่ระบาดในเมืองมานาโด พวกเขาจึงไม่กังวลในเรื่องนี้
ลูกค้าคนหนึ่งที่เข้ามารับประทานแกงกะทิค้างคาว บอกว่า เธอและคนอื่น รับประทานแกงกะทิค้างคาวอยู่บ่อยๆ และเชื่อมั่นว่าพระเจ้าเป็นผู้ตัดสินว่า จะให้พวกเธอป่วยหรือไม่ ทั้งนี้ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดใน 27 ประเทศและดินแดน แต่ที่ผ่านมายังไม่พบผู้ติดเชื้อในอินโดนีเซีย.-สำนักข่าวไทย