กรุงเทพฯ 12 ต.ค. – รมว.ศึกษาธิการ ร่วมถกนายกรัฐมนตรี วางมาตรการแก้ปัญหายาเสพติด-อาวุธปืน สั่งสถานศึกษาทบทวนมาตรการสุ่มตรวจปัสสาวะ พร้อมให้ความรู้โทษภัยยาเสพติดเข้มข้น
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุม เพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม ว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ส่วนราชการไปกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินงานมาตรการอย่างเข้มข้นในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงนั้น ๆ ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้กำชับส่วนราชการในการดูแลเด็กและเยาวชน ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและอาวุธปืนให้เข้มข้นขึ้น โดยใช้กลไกตามนโยบายความปลอดภัยในสถานศึกษา ใช้หลักการทำเด็กให้เข้มแข็ง และจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เน้นการดำเนินงานด้านการป้องกัน การปลูกฝัง และปราบปราม
สำหรับมาตรการป้องกัน คือ ให้สถานศึกษาวิเคราะห์นักเรียนเป็นรายบุคคล พิจารณานักเรียนกลุ่มเสี่ยง การสร้างข้อตกลงร่วมกัน และสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังทั้งในสถานศึกษาและชุมชน เพื่อดูแลส่งต่อข้อมูล พฤติกรรมของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง และอาจจะต้องมีการทบทวนมาตรการสุ่มตรวจปัสสาวะนักเรียนกลุ่มเสี่ยงด้วย เพื่อค้นหาว่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดด้วยหรือไม่
ส่วนมาตรการปลูกฝัง คือ ให้สร้างความรู้ ความเข้าใจถึงโทษภัย และผลกระทบของยาเสพติด การจัดกิจกรรมต่อต้านยาเสพติด โดยมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมความคิด วิเคราะห์ การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และสนองต่อความสนใจ ความต้องการของนักเรียน
มาตรการปราบปราม ให้สถานศึกษาใช้ระเบียบวินัยในสถานศึกษาอย่างเข้มข้น โดยแต่งตั้งคณะกรรมการสถานศึกษา การคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การประสานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ตลอดจนการประสานส่งต่อในกรณีที่เกินกว่าขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสถานศึกษา ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้สถานศึกษาร่วมมือกับครอบครัว ชุมชน องค์กรท้องถิ่น สถานีตำรวจ เครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายนักเรียน ตลอดจนองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ร่วมกันวางระบบแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่นักเรียน ครู และบุคลากรทุกคน
สำหรับการดูแลและส่งต่อกลุ่มเด็กที่ติดยาเสพติดไปบำบัด ดูแลรักษาให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น นั้น กระทรวงสาธารณสุขได้มีการนำเสนอหลายแนวทาง ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะมีการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ให้เข้มข้นขึ้น ส่วนกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าหมายที่จะจัดให้มีนักดูแลสุขภาพจิตในโรงเรียนมากขึ้น เพื่อที่จะได้เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับเครือข่ายด้านสาธารณสุขให้เข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งติดตามการดูแล บำบัด รักษาของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย