14 ธ.ค. – วันนี้ 14 ธันวาคม 2567 เวลา 17.25 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “สะพานทศมราชัน” ณ สะพานทศมราชัน ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงบริเวณสะพานทศมราชัน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้บริหาร และข้าราชการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ จากนั้น เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล จบ

เสร็จแล้ว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ต่อจากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวายบัตร Easy Pass ที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี

เสร็จแล้ว นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของการก่อสร้าง “สะพานทศมราชัน” โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่อ “สะพานทศมราชัน” พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้อง ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ เสร็จแล้ว เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ต่อจากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายรัชนัย เปรมปราคิน ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กราบบังคมทูลเบิกผู้มีอุปการคุณ เข้ารับพระราชทานของที่ระลึก เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับความเป็นมาของการก่อสร้าง “สะพานทศมราชัน” รูปแบบและแนวคิดในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมของสะพานทศมราชัน

จากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และนายชาตรี ตันศิริ รองผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (วิศวกรรมและบำรุงรักษา) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องรับรอง ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย ในสมุดที่ระลึก สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ

สะพานทศมราชัน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก เป็นสะพานคู่ขนานแม่น้ำเจ้าพระยาคู่ (Cable Stayed Bridge) แบบไม่มีเสาอยู่ในลำน้ำเจ้าพระยา ขนาด 8 ช่องจราจร ความยาวสะพาน 781.2 เมตร ซึ่งกระทรวงคมนาคม โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้มีแนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมสะพานแห่งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยองค์ประกอบต่าง ๆ ของสะพานจะสื่อถึงพระองค์ท่าน ดังนี้
- ส่วนยอดของเสาสะพาน หมายถึง ฝ่าพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แสดงถึง
ความโอบอุ้มปกป้อง ให้ความรัก และความห่วงใยต่อพสกนิกร และพสกนิกรต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือเกล้า - สายเคเบิล เป็นสีเหลือง เพื่อสื่อถึงวันพระบรมราชสมภพ คือ วันจันทร์
- รูปปั้นพญานาคสีเหลืองทอง อยู่บนโคนเสาสะพานทั้ง 4 ต้น ซึ่งเป็นราศีประจำปีมะโรง ปีพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายอารักขาแด่พระองค์
- รั้วสะพานกันกระโดด ออกแบบให้เป็นลายดอกรวงผึ้ง ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำพระองค์
โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร ก่อสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกจากการเดินทางจากภาคใต้สู่กรุงเทพมหานคร และช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดบนทางพิเศษช่วงบางโคล่ – คาวคะนอง และถนนพระรามที่ 2 ช่วงดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสะพานนี้ว่า “สะพานทศมราชัน” หมายถึง พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 10 และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์ เนื่องในโอกาสพระราชทานพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ไปประดิษฐานบนสะพานแห่งนี้ด้วย

ต่อมา เวลา 18.20 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ตามลำดับดังนี้
- ศาสตราจารย์พิเศษสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำคณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน พร้อมครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และสูจิบัตร แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนในด้านการศึกษาเป็นอเนกอนันต์ และทรงสืบสานพระราชปณิธานในสมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ให้กระทรวงศึกษาธิการ ในการดำเนินการก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในภูมิภาคต่าง ๆ และพระราชทานวัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อพัฒนายกระดับผู้เรียนให้เข้าถึงสื่อการเรียนการสอน นอกจากนี้ ยังทรงส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนในรูปแบบอื่น อาทิ ทรงจัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสนับสนุนโครงการด้านการศึกษาและสวัสดิการสังคมกว่า 390 โครงการ ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาของเด็ก เยาวชน และประชาชน รวมทั้งทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดตั้งคลินิกการเกษตร “เกษตรวิชญา” เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตร จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสร้างหลักสูตรการวิจัยการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาศึกษาอบรม และนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ของตนต่อไป
- นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ประธานมูลนิธิกาญจนบารมี นำคณะกรรมการและที่ปรึกษาของมูลนิธิกาญจนบารมี และผู้สนับสนุน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท น้อมเกล้าฯ ถวายรถตรวจคัดกรองมะเร็งนรีเวช พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย สำหรับตรวจภายในสตรีด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง จำนวน 3 คัน พระราชทานแก่มูลนิธิกาญจนบารมี เพื่อใช้ในการตรวจค้นหามะเร็งนรีเวชในระยะเริ่มแรกในคราวเดียวกันกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
ในโอกาสนี้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้สนับสนุนการดำเนินโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานโล่เกียรติคุณด้วย
ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงให้ความสำคัญ และทรงห่วงใยในการดูแลสุขภาพอนามัยของราษฎร โดยเฉพาะสตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ที่อยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล และด้อยโอกาส ให้ได้เข้าถึงการตรวจรักษาด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด โดยเมื่อปี 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิกาญจนบารมี จัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ โดยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ทั่วประเทศ
และในปี 2567 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 มูลนิธิกาญจนบารมี ได้จัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติ 2 โครงการ ได้แก่ หน่วยคัดกรองมะเร็งนรีเวชเคลื่อนที่ โครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ เพื่อรณรงค์ให้สตรีที่อยู่ห่างไกลและด้อยโอกาสที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งนรีเวช ให้ได้รับความรู้ การป้องกันและการตรวจค้นหามะเร็งนรีเวชในระยะเริ่มแรกในคราวเดียวกันกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากพบสิ่งผิดปกติ แพทย์จะสามารถวินิจฉัยโรค และทำการรักษาได้ในระยะเริ่มแรก ซึ่งจะทำการรักษาได้ผลดีกว่าในระยะลุกลามส่งผลให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายขาดจากโรคมะเร็งได้. -211 สำนักข่าวไทย