เชียงใหม่ 31พ.ค. – รพ.สวนปรุง เปิดคลินิกเฉพาะทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น หลังพบเด็กมีความเครียดสูง โดยเฉพาะช่วงวัย 10-18 ปี สาเหตุจากโควิด-19 ที่ยืดเยื้อยาวนาน หวังเพิ่มช่องทางรักษาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
คลินิกเฉพาะทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่นแห่งใหม่ ตั้งอยู่ภายในอาคารผู้ป่วยนอกและจิตเวชฉุกเฉิน ชั้น 2 โรงพยาบาลสวนปรุง เพื่อรองรับการเข้ารับบริการทางจิตเวชของกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากดำเนินการบำบัดผู้ป่วยจิตเวชเด็ก ช่วง 6-18 ปี มาตั้งแต่ ปี 2546 แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันพบแนวโน้มเด็กและวัยรุ่นป่วยจิตเวชมากขึ้น มีสถิติผู้มารับบริการปี 2564 จำนวน 3,176 ราย แนวโน้มเพิ่มขึ้น กลุ่มโรคที่พบมากที่สุดคือซึมเศร้าในช่วงอายุ 13-18 ปี รองลงมาคือโรคสมาธิสั้นและไบโพล่าร์ รวมถึงปัญหาพฤติกรรมาทางอารมณ์ ซึ่งปัจจัยกระตุ้นส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวและคนใกล้ชิด ทำให้เกิดความคิดอยากทำร้ายตนเองและนำไปสู่การคิดสั้นฆ่าตัวตายตามมา จากปัญหาดังกล่าวจึงได้เปิดคลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าถึงบริการบำบัดรักษาตามมาตรฐานได้อย่างเหมาะสม โดยมีห้องฝึกประสาทรับความรู้สึก ห้องให้คำปรึกษาครอบครัว รวมถึงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่สื่อการเรียนการสอนสื่อบำบัดทั้งของเล่นอุปกรณ์เสริมพัฒนาการเด็กและกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ เพื่อลดความตึงเครียดช่วยสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินให้กับเด็กและวัยรุ่นได้อย่างมีมาตรฐาน
พร้อมกันนี้ยังมีบริการจิตเวชทางไกล มีระบบพัฒนาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ผ่านโปรแกรมสครูเฮลฮีโร่ ในโรงเรียนและเด็กปฐมวัย นอกจากนี้โรงพยาบาลยังร่วมกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกระทรวงวัฒนธรรม เชิญศิลปินอาสาเยาวชนต้นกล้าศิลปะร่วมสร้างสรรค์ผลงานบนฝาผนังและทำสื่อภาพวาดด้วยการ์ตูนน่ารักสดใส ให้ผู้ป่วยได้รู้สึกผ่อนคลายความวิตกกังวลลดความซึมเศร้าและสร้างแรงบันดาลใจ
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ประธานเปิดงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 3 ปี ส่งผลให้สุขภาพของเด็กและวัยรุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในพื้นที่สุขภาพเขต 1 หรือ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีจำนวน 7,305 ราย พบมีความเสี่ยงซึมเศร้ามากที่สุด รองลงมามีภาวะความเครียดสูงและเสี่ยงฆ่าตัวตาย จากการสำรวจข้อมูลกลุ่มเด็กและวัยรุ่น อายุต่ำกว่า 20 ปี มีจำนวน 156,370 ราย ของกรมสุขภาพจิต ผ่านแอพพลิเคชั่น Mental Health Check-in ตั้งแต่ 1 ตุลาคมถึง 30 กันยายน 2564 พบอัตราเสี่ยงซึมเศร้าถึงร้อยละ 36.93 รองลงมา มีความเครียดสูงกว่าร้อยละ 31.93 เสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 25.74 และมีภาวะหมดไฟร้อยละ 6.35 และจากการสำรวจสภาพจิตใจผ่านเว็บไซต์ พบมีกลุ่มทำงานที่เครียดสูงและล่าสุดพบเด็กช่วง 10 ขวบขึ้นไปเข้ามาทำแบบสอบถามและเสี่ยงซึมเศร้ามากขึ้น ช่วงที่ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงสูง คือช่วง 10-18 ปี คาดการณ์สาเหตุมาจากโควิด-19 ที่ได้รับผลโดยอ้อมจากความเครียดของผู้ใหญ่ และการปิดโรงเรียน ที่เด็กต้องใช้สมาธิมากกว่าภาวะการเรียนปกติ โดยรวมแล้วเด็กจึงมีความเสี่ยงเครียดซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ นอกจากคลินิกนี้จะช่วยเพิ่มทางเลือกแล้ว ทางบ้านก็มีความสำคัญที่ต้องเข้าใจและรับฟัง เด็กให้มากขึ้น หากสังเกต เฉื่อย ๆ เฉย ๆ ต้องพามาหาหมอ หรือโทรสายด่วน 1323. -สำนักข่าวไทย