สำนักข่าวไทย 22 ก.พ.- คลิปที่เรียกความฮือฮาและข้อสงสัยอย่างมากคือ ” พระสวดมนต์ใช่พระหรือไม่” ซึ่งเป็นคลิปขณะพระสงฆ์กำลังสวดมนต์ ด้วยสำเนียงหรือทำนองอาจไม่คุ้นหู ฟังดูแปลกไปกระโชกโฮกฮาก จึงเกิดคำถามมากมายว่า เป็นการสวดมนต์ที่ถูกต้องหรือไม่?
จากการตรวจสอบพบว่าการสวดแบบนี้เป็นการสวดมนต์ทำนอง “พระสะหัสสะนัย” แบบสวดกระทุ้ง เป็นการสวดมนต์ที่มีมาตั้งแต่โบราณแล้ว เป็นบทสวดในงานอวมงคลหรือเฉพาะงานศพ ซึ่งจะมีด้วยกัน 5 แบบคือ
แบบที่ 1 สวด 7 คัมภีร์ สวดศพธรรมดา
แบบที่ 2 สวดพระสะหัสสะนัย มีทำนองผสมในการสวด มีการกระทุ้งเสียง หรือกระทุ้งตาลปัตรเพื่อให้ผู้ฟังสวดไม่เบื่อหน่าย
แบบที่ 3 สวดมัตถสังคหะมี 9 ปริจเฉทมีทำนองและความพร้อมเพรียงของพระผู้สวด
แบบที่ 4 สวดพระมาลัย มีทำนองโหยหวนแต่แฝงไปด้วยคำสอนจากพระพุทธเจ้าในเรื่องนรก-สวรรค์
แบบที่ 5 สวดทำนองหลวง มีทำนองเรียบ ๆ เสียงพระผู้สวดเสมอกัน เป็นการสวดเฉพาะพระที่ประจำวัดหลวงเท่านั้น และสวดให้เฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์ และหรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น
สวดสะหัสสะนัย สมัยนี้น้อยวัดที่จะสวดเพราะใช้เวลานาน ใช้เป็นการสวด7 คัมภีร์แทน การสวดพระสะหัสสะนัยกระทุ้งเสียง สมัยก่อนเป็นการสวดศพที่เงียบมากจึงใช้การกระทุ้งเสียงเพื่อเป็นการตามจังหวะ
การสวดพระสะหัสสะนัย แทบจะไม่มีให้เห็นในยุคปัจจุบัน ทำให้คนที่พบเจอว่าแปลก ว่าผิดเพี้ยนแต่จริงแล้วนี่คือดั้งเดิม
สวดสะหัสสะนัยแบบนี้เรียกทำนองกระทุ้ง (กระทุ้งเสียง) นิยมสวดศพในสมัยเก่า 50-60 ปีที่แล้วยังนิยมสวดเคยถามและได้ความรู้มาว่าสมัยก่อนการเดินทางลำบากรถเรือไม่สะดวก พระมาถึงก็ค่ำมากแล้วจึงสวดกระทุ้งเสียง
1.เพื่อไม่ให้เจ้าภาพง่วง
2.เพื่อให้รู้ว่าสวดคืนสุดท้ายแล้ว
3.คนที่ตายมีอายุมากกว่า 60 ปี (ในบางท้องที่สวดเฉพาะคนตายที่ 80 ปีขึ้นไป)
4.สมัยก่อนถ้าพระไม่สวดสหัสสะนัยก็จะมีคณะโยมฆราวาสมาสวดคฤหัสถ์แทน