เพชรบูรณ์ 6 ต.ค.- เริ่มขึ้นเเล้ว! งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก สืบทอดประเพณีที่มีมาช้านาน พลังศรัธาพุทธศาสนิกชนเกิดปรากฏการณ์รุ้งกินน้ำครึ่งวงกลมครอบองค์พระพุทธมหาธรรมราชาองค์ใหญ่
นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยกรมการเมืองทั้ง 4 คือ เวียง วัง คลัง และนา ประกอบพิธีอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา พระคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดเพชรบูรณ์จากวัดไตรภูมิ ลงเรือบริเวณท่าน้ำวัดไตรภูมิ ที่ประดับตกแต่งไว้อย่างสวยงาม แห่ไปตามแม่น้ำป่าสักทวนกระแสน้ำไปยังท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร เพื่อประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2564 จากนั้น เวลา 09.39 น. นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ในฐานะพ่อเมือง ได้ประกอบพิธีอุ้มพระพุทธมหาธรรมราชาลงสรงน้ำ หรือที่เรียกว่าอุ้มพระดำน้ำ พร้อมกับกรมการเมืองทั้ง 4 คือ พล.ต.สามารถ มโนรถมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 36 เป็นฝ่ายเวียง , นายสืบพงษ์ นิ่มพูลสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นฝ่ายวัง , นายวันชัย บุญชู ผู้อำนวยการสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นฝ่ายคลัง และนายประจวบ นาคเทียน ประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นฝ่ายนา
ทั้งนี้ พิธีอุ้มพระดำน้ำปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน และเชื่อกันว่าเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์จะนำความสุข ความสงบร่มเย็นมาสู่เมือง ส่งผลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชผลการเกษตรอุดมสมบูรณ์ และทำให้ชาวเพชรบูรณ์มีความเจริญรุ่งเรือง โดยกรมการเมืองทั้ง 4 เวียง วัง คลัง และ นา จะอุ้มพระดำน้ำ 6 ครั้ง ครั้งแรกและครั้งที่สอง ทำพิธีอุ้มพระหันหน้าไปทางทิศใต้ ครั้งที่สามครั้งที่สี่ จะทำพิธีอุ้มพระหันหน้าไปทางทิศเหนือ ครั้งที่ห้าทำพิธีอุ้มพระหันหน้าไปทางทิศใต้ และครั้งที่หกทำพิธีอุ้มพระหันหน้าไปทางทิศเหนือ
หลังเสร็จพิธีผู้ว่าเพชรบูรณ์ได้แจกจ่ายเครื่องบวงสรวง กระยาสารท ข้าวต้มมัด ลูกโยน กล้วย ที่ผ่านพิธีมงคลให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมพิธีนำกลับไปรับประทาน เพื่อความเป็นสิริมงคล
สำหรับประเพณีอุ้มพระดำน้ำ มีตำนานที่เล่าขานมานาน เป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกของจังหวัดเพชรบูรณ์ ว่ามีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งออกหาปลาในแม่น้ำป่าสัก แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น โดยกระแสน้ำในบริเวณวังมะขามแฟบ มีพรายน้ำผุดขึ้นมาทีละน้อยจนแลดูคล้ายน้ำเดือด จากนั้นกลายเป็นวังวนดูดเอาองค์พระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ทำให้ชาวประมงต้องลงไปอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ แต่ในปีถัดมาตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 วันประเพณีสารทไทย พระพุทธรูปดังกล่าวหายไป ชาวบ้านต่างพากันงมหา สุดท้ายไปพบพระพุทธรูปกลางแม่น้ำป่าสักบริเวณที่พบพระพุทธรูปองค์นี้ในครั้งแรก กำลังอยู่ในอาการดำผุดดำว่าย จึงได้ร่วมกันอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ อีกครั้งหนึ่งพร้อมร่วมกันถวายนามว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา” หลังจากนั้นต่อมาในวันสารทไทย หรือวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เจ้าเมืองเพชรบูรณ์ จะทำพิธีอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ลงประกอบพิธีดำน้ำเป็นประจำทุกๆ ปี โดยเชื่อว่าจะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ไพร่ฟ้าประชาชนมีความสุข บ้านเมืองปราศจากจากโรคระบาดคุกคาม จนกลายมาเป็นประเพณีอุ้มพระดำน้ำอันยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน
ประเพณีอุ้มพระดำน้ำของจังหวัดเพชรบูรณ์ ทุกๆ ปีจะมีนักท่องเที่ยวและชาวเพชรบูรณ์มาร่วมชมพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้นับหมื่นคน แต่ในปีนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิด จึงงดงานสมโภชและงานรื่นเริงต่างๆ แต่ยังคงประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ เฉกเช่นที่ทำติดต่อกันมากว่า 500 ปี ส่วนผู้ที่จะเข้าร่วมชมพิธีในครั้งนี้ เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ในฐานะผู้จัดงาน ได้ดำเนินการตามมาตรการ D-M-H-T-T-A ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มงวด โดยผู้ที่จะเข้าร่วมพิธีจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนยังไม่ครบ เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ได้จัดจุดตรวจหาเชื้อโดยวิธี AntigenTestKit (ATK) ซึ่งหากตรวจไม่พบ ก็สามารถเข้าไปร่วมชมพิธีได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเย็นของการจัดงานวันแรก มีการรำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา ที่บริเวณพุทธอุทยานเพชะบุระ หรือ พระพุทธมหาธรรมราชาองค์ใหญ่ โดยก่อนพิธีได้มีเมฆและฝนตกลงมาอย่างหนัก แต่เมื่อพอเข้าสู่พิธีการปรากฏว่าฝนหยุดตก ท้องฟ้าเปิด และเกิดปรากฏการรุ้งกินน้ำเป็นครึ่งวงกลม ซึ่งหากมองจากหน้าองค์พระจะเห็นเป็นรุ้งกินน้ำครอบองค์พระพุทธมหาธรรมราชาเฉลิมพระเกียรติสวยงาม.-สำนักข่าวไทย