นครสวรรค์ 1 ก.ย.-คดีอดีตผู้กำกับโจ้ และพวก ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิต คณะทำงานสอบสวนยังคงประชุมเครียด เพื่อทำคดีให้รัดกุมที่สุด โดยเฉพาะเรื่องคลิปที่ใช้มัดตัวผู้ต้องหา หวั่นจะพลิกลิ้นอ้างว่าในภาพไม่ใช่ตนเอง ส่วนเรื่องย้ายอดีตผู้กำกับโจ้กับพวกมาเรือนจำในกรุงเทพนั้น คาดจะจบภายในสัปดาห์นี้
วันนี้ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครสวรรค์ พนักงานสอบสวนยังคงประชุมหารือและตรวจเอกสารที่พนักงานสอบสวนแต่ละชุดรวบรวมมา เพื่อตรวจสอบว่ายังขาดประเด็นใดที่จะต้องสอบเพิ่ม และจะต้องสอบพยานบุคคลเพิ่มอีกหรือไม่ รวมไปถึงประเด็นคำให้การของผู้ต้องหาทั้ง 7 คน โดยเฉพาะประเด็นที่อดีตผู้กำกับโจ้กลับคำให้การ นอกจากนี้ยังมีประเด็นการตรวจสอบพฤติกรรมของตำรวจชุด 05 ที่ยังไม่มีการจับกุม ว่าร่วมกระทำความผิดด้วยหรือไม่ ซึ่งวันนี้พนักงานสอบสวนได้เชิญอัยการจังหวัดนครสวรรค์ 3 คน ที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งแต่งตั้งมาร่วมหารือ เพื่อให้สำนวนครอบคลุมทุกประเด็น โดยมีรายงานว่า 4 ประเด็นหลักที่อัยการสอบ คือ ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ใด ตายอย่างไร และใครทำให้ตาย ซึ่งประเด็นหลังนี้ คือ จุดสำคัญ เพราะถึงแม้จะมีคลิปหลักฐานที่ชัดเจน แต่ก็ต้องพิสูจน์ให้ชัดว่าไม่ใช่การตัดต่อ ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการพิสูจน์ เพื่อที่จะมัดตัวผู้ต้องหา เนื่องจากผู้ต้องหาอาจจะพลิกลิ้นอ้างว่าในภาพไม่ใช่ตนเอง
สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของ พล.ต.ต.ระพีพงษ์ สุขไพบูลย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครสรรค์ บอกว่า แม้คลิปวิดีโอจะชัดเจนขนาดนั้น แต่ก็ยังต้องส่งตรวจพิสูจน์ที่กองนิติวิทยาศาสตร์ว่ามีการตัดต่อหรือไม่อย่างไร คดีนี้เป็นคดีสำคัญและเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน ต้องทำอย่างรัดกุมโปร่งใส ส่วนกระแสการย้ายอดีต ผกก.โจ้ เข้าไปที่เรือนจำที่พื้นที่ กทม. เป็นดำริของผู้ใหญ่ เข้าใจว่าทาง ผบ.ตร.ได้มีการสั่งการ ให้ทาง พ.ต.อ.เอนก ได้ทำเรื่องให้นำตัว ผู้ต้องหาทั้งหมดเข้าไปอยู่ในเรือนจำกลาง ซึ่งอยู่ในภาค 6 เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์มีการแพร่ระบาดของโรคโควิดเป็นจำนวนมาก แต่การจะย้ายไปเรือนจำในกรุงเทพฯ ก็เป็นไปตามกระแส ซึ่งจะเรียบร้อยภายในสัปดาห์นี้ และภายในวันสองวันจะมีความชัดเจนขึ้น สำหรับการย้ายตัวผู้ต้องหานั้นเป็นเรื่องของความมั่นคง หรือสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีการระบาดในพื้นที่ราชทัณฑ์ ต้องรอความชัดเจนของทางผู้ใหญ่ ตอบแทนไม่ได้ โดยการย้ายตัวผู้ต้องหาเข้าไปยังเรือนจำในกรุงเทพฯ เป็นเรื่องที่เคยมีมาหลายคดีแล้ว
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 พนักงานสอบสวนตามคำสั่ง ตร. ยื่นคำร้องขอโอนการฝากขังผู้ต้องหารวม 7 คน
พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนพล หรือผู้กำกับโจ้ ที่ 1
พ.ต.ต.รวีโรจน์ ดิษทอง ที่ 2
ร.ต.อ.ทรงยศ คล้ายนาค ที่ 3
ร.ต.ท.ธรณินทร์ มาศวรรณา ที่ 4
ด.ต.ศุภากร นิ่มชื่น ที่ 5
ด.ต.วิสุทธิ์ บุญเขียว ที่ 6
ส.ต.ต.ปวีณ์กร คำมาเร็ว ที่ 7
ซึ่งเดิมครั้งแรกมีการยื่นฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 7 ต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ ที่ดำเนินการแทนศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 โดยศาลได้อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาที่ 1-7 มีกำหนด 12 วัน จะครบกำหนดการฝากขังครั้งที่ 1 ในวันที่ 5 กันยายน และ 7 กันยายน ตามลำดับ แต่เนื่องจากคดีนี้ ผู้ต้องหาเป็นข้าราชการตำรวจในสังกัด สภ.เมืองนครสวรรค์ ท้องที่เกิดเหตุ และเป็นกรณีข้าราชการตำรวจถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา มีพฤติกรรมกระทำผิดร้ายแรงเป็นคดีอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอย่างมาก สร้างความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีกทั้งยังเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนให้ทำการสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าวและให้โอนสำนวนการสอบสวนจาก สภ.เมืองนครสวรรค์ ไปสอบสวนยังกองบังคับการปราบปราม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ดังนั้นเนื่องจากคดีนี้ เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติชอบภาค 6 คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน จึงขอโอนการฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 7 จากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 ไปฝากขังยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และขอโอนการขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนจากเรือนจำกลางพิษณุโลกไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อสะดวกในการสอบสวนและดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 87 วรรคท้าย โดยศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้โอนการฝากฝากขขังผู้ต้องหาตามคำร้องดังกล่าว
ด้านนายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และโฆษกกรมราชทัณท์ บอกว่า ตามหลักหากการกระทำผิดเกิดขึ้นที่ใดก็จะขึ้นศาล และคุมขังในพื้นที่นั้น แต่คดีนี้เมื่อพนักงานสอบสวนอยู่ใน กทม. จึงขึ้นกับทางพนักงานสอบสวนจะประสานขอศาลเพื่อโอนคดีเข้ามา และหากได้รายละเอียดว่าอยู่ในเขตอำนาจศาลใด ราชทัณฑ์ก็พร้อมรับตัว ทั้งนี้ คดีที่ยังไม่ได้ตัดสินและไม่ใช่คดียาเสพติด ก็จะย้ายมาคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทั้งหมด ซึ่งสามารถดูแลได้ มีขั้นตอนรับทันทีหากตำรวจประสานมา แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับการประสาน.-สำนักข่าวไทย