ภูมิภาค 21 ก.ย. – อิทธิพลของพายุโนอึล ส่งผลให้หลายจังหวัดได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก บ้านเรือน ไร่นา โบราณสถาน และสถานที่ราชการ ได้รับความเสียหาย
ปริมาณน้ำหลากมาจากลำน้ำลำเชียงไกร อำเภอโนนไทย ไหลเข้าท่วมโบราณสถาน “ปราสาทหินปรางค์พลสงคราม” หรือปรางค์สระเพลง หมู่ 2 ตำบลพลสงคราม อำเภอโนนสูง ซึ่งเป็นปราสาทหินโบราณ ปรางค์ “อโรคยา” หรือโรงพยาบาล ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พุทธศตวรรษที่ 18 อายุราว 700 ปี ได้รับแรงหนุนจากมวลน้ำสะสมตามลำน้ำต่อเนื่อง 4 วันติดต่อกัน ทำให้ระดับน้ำท่วมสูงขึ้นกว่า 50-70 เซนติเมตร ท่วมพื้นที่แนวรอบกำแพงหินศิลาแลงรอบนอก และพื้นที่ชั้นในปราสาท ถนนเชื่อมต่อหมู่บ้าน ระดับน้ำสูง 50 เซนติเมตร นาข้าวที่กำลังตั้งท้องกว่า 100 ไร่ บ่อปลา ถูกน้ำท่วมอีกกว่า 10 บ่อ
ปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ทั้งในฝั่งไทยและ สปป ลาว ไหลลงในแม่น้ำโขง ระดับน้ำโขงเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันอีกรอบ ชาวบ้านริมโขง โป๊ะแพ และผู้เลี้ยงปลากระชัง พร้อมปรับโป๊ะแพให้เหมาะสมกับระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น ป้องกันความเสียหาย ล่าสุดระดับน้ำโขงวัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย อยู่ที่ 5.47 เมตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของเมื่อวานนี้เกือบ 50 เซนติเมตร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เตือนชาวบ้านริมโขงติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
ที่ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าหน้าที่หมวดการทางหลวงประจวบคีรีขันธ์ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่นำเครื่องเลื่อยยนต์รื้อซากต้นไม้ขนาดใหญ่ที่หักโค่นล้มกีดขวางถนนทับรถยนต์เสียหายเล็กน้อย 1 คัน บริเวณถนนเพชรเกษม ฝั่งขาล่องใต้ หลักกิโลเมตรที่ 301 หมู่ 4 บ้านบึง ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมือง ผลพวงจากลมที่พัดแรง และฝนจากพายุโนอึลที่ตกลงมาทั้งวัน นอกจากนี้ยังมีต้นไม้ขนาดใหญ่ล้มทับเสาไฟฟ้าจนหักโค่นในวัด ความแรงของลมพายุโนอึล ยังทำให้หลังคาบ้านเรือนถูกลมพัดเสียหาย ล่าสุดนายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าฯ ประจวบคีรีขันธ์ ลงนามเตรียมพร้อมดูแลช่วยเหลือทรัพย์สินของประชาชน เตรียมสนับสนุนการส่งกำลังบำรุง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ส่วนความคืบหน้ากรณีเขาหินปูนยุคเพอร์เมียนตอนกลางที่มีอายุ 260 ล้านปี พังถล่มลงสู่ทะเลบริเวณพื้นที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะหินแตก เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเขาลูกนี้พังถล่มลงทะเลเป็นบริเวณกว้างร้อยละ 15-20 ของพื้นที่เกาะ ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองนั้นมีเกาะทั้งสิ้น 42 เกาะ ตั้งอยู่ในอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายปิยะ หนูนิล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ชี้แจงว่า หินที่ถล่มลงมาเป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติ เพราะมีโครงสร้างเป็นหินปูนเมื่อถูกน้ำกัดเซาะ จึงพังลงสู่ทะเล พร้อมส่งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ สำรวจ หวั่นมีการถล่มเพิ่ม.-สำนักข่าวไทย