เชียงราย 24 พ.ค. – เครือข่ายประชาชน -นักวิชาการ ผนึกกำลังเรียกร้องปิดเหมืองแร่ต้นน้ำกก-โขง หวั่นสารพิษกระทบหนัก
เย็นวันนี้ (24 พฤษภาคม) ที่ลานหน้าสวนตุงและโคมนครเชียงราย ถนนธนาลัย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ พร้อมเครือข่ายภาคประชาชน ได้จัดกิจกรรมปราศรัยเชิญชวนชาวเชียงราย ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลไทย เมียนมา จีน และเขตปกครองพิเศษที่ 2 (สหรัฐว้า) รับรู้ถึงปัญหาสารพิษปนเปื้อนในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง อันเป็นผลมาจากเหมืองแร่ทองคำ เหมืองแมงกานีส และเหมืองแรร์เอิร์ธ (แร่หายาก) ในพื้นที่ต้นน้ำฝั่งเมียนมา
นายนิวัฒน์ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันทุกฝ่ายทราบดีว่ามีปัญหาสารพิษจากเหมืองไหลลงสู่แม่น้ำสายหลัก หากปล่อยไว้จะยิ่งส่งผลกระทบสะสม จึงจำเป็นต้องแสดงพลังของประชาชนให้ผู้มีอำนาจทุกฝ่ายได้รับทราบ พร้อมร่วมประกอบพิธีสืบชะตาแม่น้ำกก และจัดพิธีกรรมจากกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ปกป้องสายน้ำสำคัญของจังหวัด
น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่า ภาพถ่ายดาวเทียม GISTDA พบการเปิดหน้าดินทำเหมืองในเขตของว้า มากกว่า 40 จุด ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถใช้กฎหมายสากลควบคุมได้ และเป็นต้นเหตุสำคัญของสารพิษที่ปะปนลงสู่แม่น้ำสายหลัก โดยเฉพาะช่วงน้ำหลากปลายปี 2567 ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีสิ่งใดไหลปนมากับน้ำบ้าง
ด้าน ดร.สืบสกุล กิจนุกร สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ปัญหาน้ำเน่าเสียในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตคนท้องถิ่น ชาวประมงขาดอาชีพ พ่อค้าแม่ค้าเดือดร้อน โรงแรมในเชียงรายต้องเพิ่มต้นทุนตรวจคุณภาพน้ำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้เข้าพัก ร้านอาหารงดซื้อปลาจากแม่น้ำกก แม้ปัจจุบันไทยจะทำได้เพียงตรวจสอบคุณภาพน้ำเป็นระยะๆ แต่ต้นตอปัญหาอยู่ที่เหมืองแร่ฝั่งเมียนมา
ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนประกาศเชิญชวนทุกคนร่วมกิจกรรมใหญ่ในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ เวลา 09.00 น. ณ โรงเรียนรักษาดินแดน ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร อำเภอเมืองเชียงราย ก่อนจะเคลื่อนขบวนเดินไปยังสะพานข้ามแม่น้ำกก แสดงพลังประชาชน และยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อส่งต่อถึงรัฐบาลไทย เมียนมา จีน และกลุ่มว้า เรียกร้องให้ปิดเหมืองที่เป็นต้นเหตุของวิกฤติสิ่งแวดล้อมครั้งนี้. -713 สำนักข่าวไทย