นครราชสีมา 28 ส.ค. – เจ้าหน้าที่ชุดกู้ภัย ทำงานแข่งกับเวลา เร่งโกยดินใกล้เข้าถึงตัวรถบรรทุกที่มี 1 ใน 3 คนงาน ถูกดินถล่มทับภายในอุโมงค์รถไฟความเร็วสูง ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
ไม่เพียงแข่งกับเวลาที่ล่วงเลยไปเรื่อยๆ แต่ยังแข่งกับสภาพอากาศที่ช่วง 15.30 น. มีฝนตกโปรยปรายลงมาเล็กน้อย ข่าวสารหลายอย่างค่อนข้างสับสน ล่าสุดมีการปฏิเสธข่าวการเข้าถึงตัวรถบรรทุก และการเคาะส่งสัญญาณตอบกันระหว่างกู้ภัย และผู้ประสบภัย
นายเกริกเสกข์สัณห์ วาสะศิริ ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติพิเศษค้นหาและกู้ภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย หรือ USAR Thailand เป็นคนที่ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวนี้ โดยยืนยันว่า ณ ขณะนี้ยังไม่เจอรถบรรทุก แต่บอกได้ว่า เข้าใกล้ทุกขณะ เดิมที่คาดว่า อยู่ห่างจากแนวอุโมงค์ป้องกัน 1.20 เมตร พอเจาะเข้าไป ไม่เจอ สแกนใหม่ พบว่า ลึกลงไปอีกในลักษณะลาดเอียง 1 เมตร 80 เซนติเมตร แต่ก็ขุดได้แล้ว 1.80 เมตร สุดท้าย จะถึงจุดที่รถบรรทุกจอดอยู่ แนวขุดนี้รถแบ็กโฮเล็กไม่สามารถเข้าได้ จึงจำเป็นต้องใช้กำลังคนขุดแทน
ภาพนิ่งภายในอุโมงค์ แสดงให้เห็นอุโมงค์เหล็กบีมที่ 1 ช่วง สูง 3 เมตร กว้าง 3 เมตร ยาว 6 เมตร โดยยึดเหล็กบีมแนวนอนกับพนังด้านข้างอุโมงค์สองข้าง และทำเป็นกล่องตรงกลางเหล็กบีม ส่วนดินที่ถล่มแล้วสไลด์เข้าอุโมงค์เล็ก จะใช้รถแบ็กโฮ และคนขุดดินออก อุโมงค์ช่วงแรกได้นำกระสอบทรายกั้นกองดินสองข้างไม่ให้สไลด์ลงมา แล้วขนทรายจากด้านนอกไปเสริมกองดินด้านข้าง เพื่อให้กองดินที่ถล่มขนาบอุโมงค์เล็กมีน้ำหนักเท่ากัน เพื่อทำฐานอุโมงค์ให้แข็งแรง อุโมงค์ช่วงสอง มีขนาดเท่าอุโมงค์ช่วงแรก แต่รูตรงกลางที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจะใช้วิธีฉีดปูนซีเมนต์เข้าไปเพื่อทำผนังกล่องสี่เหลี่ยม ป้องกันหินจากบนผนังอุโมงค์หล่นใส่เจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติการ
วันนี้ ทั้งนายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสุริยะ จึงรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มาติดตามประเมินสถานการณ์ใกล้ชิด เพื่อร่วมตัดสินใจแนวทางการเร่งช่วยชีวิตผู้ประสบภัย โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร มานำเสนอข้อมูลการตรวจประเมินพื้นที่การสร้างแนวป้องกัน ซึ่งหลายส่วนได้มาตรฐานความปลอดภัยแล้ว สามารถเดินหน้าทลายสิ่งกีดขวางเพื่อเร่งช่วยชีวิตผู้ประสบภัยได้
กระแสข่าวการเข้าถึงรถบรรทุกช่วงบ่าย 3 เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีรถกู้ชีพวิ่งเข้าไปในอุโมงค์ 2 คัน แต่เมื่อประเมินแล้ว คงใช้เวลาอีกนาน ครบ 1 ชั่วโมง รถกู้ชีพก็วิ่งกลับออกมาสแตนบายด้านนอกตามเดิม
นายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ให้ข้อมูลว่า รถกู้ชีพที่เข้าไปมีแพทย์ฉุกเฉินเฉพาะทาง พร้อมอุปกรณ์กู้ชีพทันสมัย เพื่อประเมินอาการเบื้องต้นว่า เหมาะสำหรับการลำเลียงทางอากาศหรือภาคพื้นดิน ซึ่งมีข้อดีข้อเสียต่างกัน กล่าวคือ ทางบกจะช่วยชีวิตได้ดีกว่า แต่ใช้เวลาเดินทางนานกว่า โดยอาการของคนที่ติดอยู่ในห้องโดยสารนานๆ อาจมีการคั่งของอากาศเสียหรือคาร์บอนไดออกไซด์ หากไม่มีน้ำดื่ม ก็จะเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงได้ ซึ่งน้ำเกี่ยวข้องกับความเป็นกรดด่างของเลือด หากผิดปกติ จะส่งผลต่อสัญญาณชีพต่างๆ ด้วย โดยจะลำเลียงไปยังโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ผ่านทางโรงเรียนคลองไผ่ และหากเกิดเหตุภาวะฉุกเฉิน ได้เตรียมทีมแพทย์สแตนบายรอให้แวะเติมศักยภาพผู้ป่วยไว้ด้วย.-สำนักข่าวไทย