เชียงใหม่ 8 ก.พ. – เชียงใหม่และภาคเอกชน คิ๊กออฟสร้างห้องลดฝุ่น ตั้งเป้า 1 พันห้อง รองรับวิกฤติ แม้สถานการณ์ฝุ่นพิษปัจจุบันดีขึ้นแล้ว
วันนี้ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งภาครัฐและเอกชน ผนึกกำลังร่วมสร้างมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 คิ๊กออฟสร้างห้องลดฝุ่นทั่วเชียงใหม่ ตั้งเป้าพันห้อง เพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชนรองรับวิกฤต แม้สถานการณ์ฝุ่นพิษปัจจุบันดีขึ้นแล้ว เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
หลังจากที่จังหวัดเชียงใหม่ประกาศมาตรการป้องกันและลดผลกระทบในจังหวัดเชียงใหม่ ฉบับที่ 1 เพื่อลดฝุ่นในพื้นที่ต่างๆ ไปแล้ว วันนี้นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่ พร้อมนายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และภาคเอกชน ร่วมเปิดคิ๊กออฟห้องลดฝุ่นเชียงใหม่พร้อมมอบใบประกาศรองรับภาคเอกชนที่สร้างห้องลดฝุ่นได้มาตรฐานและหน่วยงานที่สนับสนุนอุปกรณ์สร้างห้องลดฝุ่นด้วย โดยตั้งเป้าหมายสร้างให้ได้ 1 พันห้อง ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน อาทิ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านกาแฟและร้านค้าต่าง ๆ ให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีห้องลดฝุ่น อยู่เพียง 206 แห่ง เพื่อให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ได้มีพื้นที่สะอาด ได้ใช้ชีวิตปกติในช่วงที่มีวิกฤติ
นายทศพล ยังกล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 ใน จ.เชียงใหม่ หลังจากที่ทุกภาคส่วนหันมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ ขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้ปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่นพิษดีขึ้นมาก ตั้งแต่ 1 มกราคมถึงวันนี้ มีฮอตสปอตหรือจุดความร้อน 111 จุด ลดลงไปร้อยละ 87 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันมีถึง 858 จุด โดยเริ่มมาตรการห้ามเผาควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟผ่านแอพพลิเคชั่นฟายดี ก็ได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนเต็มที่ ส่วนพื้นที่เผาไหม้ คาดว่าต่ำกว่าปีที่แล้ว ส่วนการวัดค่า PM2.5 ปัจจุบันมีการวัดเกณฑ์ใหม่จาก 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปีนี้เป็น 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทำให้ค่าอากาศปีนี้เกินมาแค่ 2 วัน แต่ถ้ายังใช้เกนฑ์เดิมอยู่ก็เท่ากับว่าไม่มีสักวันที่ค่าอากาศเกิน ส่วนผู้ป่วยเฝ้าระวัง ก็ลดลงร้อยละ 15 จึงถือว่าวันนี้จังหวัดเชียงใหม่เดินมาถูกทางแล้ว แต่แม้ว่าสถานการณ์จะยังดีอยู่ แต่ก็ได้เตรียมแผนสำรองไว้ ทั้งการสร้างห้องลดฝุ่น ที่ได้ภาคเอกชนมาช่วยสร้างห้องมากขึ้น และเตรียมทีมที่ปรึกษาที่มาช่วยคาดการณ์เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดวิกฤติในแต่ละช่วง ขณะเดียวกันก็ศึกษาแผนในการแก้ปัญหาระยะยาว ทั้งวิถีชุมชน การทำไร่นาของเกษตรกร และการบุกรุกเผาป่าเพื่อหาของป่าด้วย. -719-สำนักข่าวไทย