นครพนม 26 ม.ค. – ฮือฮา โรงเรียนแห่งหนึ่งที่นครพนม เปิดสอนระดับชั้นประถมฯ ทั้งโรงเรียนมีครูสอนคนเดียว-สอนทุกชั้น ด้าน สพฐ. แจงจัดสรรตำแหน่งพนักงานราชการตำแหน่งครู 2 อัตรา
กลายเป็นที่ฮือฮาอีกครั้งสำหรับแวดวงการศึกษาไทย หลังมีการเปิดเผยข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลว่ามีโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครพนม คือ รร.บ้านดงโชค อ.เมือง เป็นโรงเรียนชุมชนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1 นครพนม มีครูผู้สอนเพียงคนเดียว ทั้งโรงเรียน แต่ยังเปิดทำการเรียนการสอน พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ยอมส่งลูกหลานไปเรียนที่อื่นทั้งที่มีนักเรียนแค่ 19 คน
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ พบเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีเนื้อที่ราว 15 ไร่ เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล 2 ถึง ชั้น ป.6 ปัจจุบันมีนักเรียน 19 คน อาคารเรียน มี 2 อาคาร แบบปูนสองชั้นยกสูง และ อาคารอเนกประสงค์ 1 อาคาร มีนายศุภมาศ หรือ ผอ.บอยอายุ 49 ปี เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน มีครูผู้ช่วย 1 คน คือ น.ส.ธัญลักษณ์ หรือครูฟิน อายุ 23 ปี พนักงานราชการอีก 2 คน และพนักงานธุรการ 1 คน
ผอ.โรงเรียน กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของโรงเรียนคือต้องใช้วิธีสอนรวม เนื่องจากตามเกณฑ์อัตรากำลัง กระทรวงศึกษาฯ สามารถมีตำแหน่งครูได้ 1 คน ต่อนักเรียน 20 คน นอกจากนี้งบประมาณต่อหัวนักเรียนได้ปีละ 3 หมื่นบาทไม่มีสวัสดิการเพิ่มสำหรับครูผู้ช่วย ทำให้ทั้งครูและตัวแทนชาวบ้านเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาฯ ทบทวนดูแลเพิ่มอัตรากำลัง เนื่องจากไม่สามารถยุบรวมได้ เพราะเป็นโอกาสทางการศึกษาของลูกหลาน ที่ครอบครัวฐานะยากจนได้ศึกษาโรงเรียนในชุมชน
ด้านชาวบ้านให้ข้อมูลว่า โรงเรียนแห่งนี้ชาวบ้านร่วมกันบริจาคที่ดินก่อสร้าง เริ่มจากปี 2484-2548 มีครูใหญ่ 6 คน จากนั้นเปลี่ยนผู้บริหารมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน นักเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกหลานที่พ่อแม่มาฝากปู่ย่าตายายเลี้ยงหรือมาจากครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ฐานะยากจน มีอาชีพเป็นเกษตรกร ผู้ปกครองจึงนำลูกหลานมาฝากครูขณะออกไปทำงานรับจ้าง ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน ไม่ต้องการให้ยุบรวม ทุกปีหากงบฯ ไม่เพียงพอ โรงเรียนกับชาวบ้านจะจัดผ้าป่าทำบุญสมทบทุน วอนรัฐบาลหาทางดูแลช่วยเหลือ
ขณะที่ น.ส.ธัญลักษณ์ ซึ่งทำหน้าที่ตำแหน่งครูผู้ช่วย สอบบรรจุเข้ามาทำงานเมื่อปลายปี 2566 ระบุว่าจะตั้งใจทำหน้าที่สอนให้ดีที่สุดเพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง
ล่าสุด นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า โรงเรียนดังกล่าว มีนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึง ป. 6 จำนวน 19 คน มีบุคลากร ทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วยผู้อำนวยการสถานศึกษา 1 คน ข้าราชการครูตำแหน่งผู้ช่วย 1 คน พนักงานราชการตำแหน่งครู 2 คน และพนักงานธุรการ 1 คน ซึ่งตามเกณฑ์อัตรากำลังของกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับสถานศึกษาที่มีนักเรียนไม่เกิน 40 คน สามารถมีตำแหน่งครูได้ 1-4 คน
ที่ผ่านมาทางเขตพื้นที่ได้พูดคุยกับทางโรงเรียนและชุมชนในการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก อาทิ การยุบหรือควบรวม หรือเรียนรวมกับโรงเรียนขนาดใหญ่อื่นๆ แต่ทางชุมชนไม่ต้องการให้ยุบรวมต้องการให้ยังคงอยู่เป็นสถานศึกษาต่อไป ทางเขตพื้นที่จึงได้สนับสนุน จัดสรรพนักงานราชการตำแหน่งพนักงานราชการครูผู้สอนจำนวน 2 อัตรา เข้ามาช่วยสอนนักเรียนด้วย และมีการใช้ระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมช่วยการเรียนการสอน ซึ่งไม่ใช่เพียงโรงเรียนที่ปรากฏในข่าวเท่านั้นแต่ได้ให้การสนับสนุนทุกโรงเรียนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ส่วนกรณีที่บอกว่าโรงเรียนได้รับงบประมาณจำนวน 30,000 บาทต่อปีนั้น ขอชี้แจงว่าในการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนรายหัวนักเรียนมีเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้เหมือนกันหมดทุกแห่งโดยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในระดับประถมศึกษาจากเดิมหัวละ 3,130 บาท ในปี 66 ปรับเพิ่มเป็น 3,410 บาท ในปี 67 ซึ่งเมื่อคูณกับจำนวนนักเรียน 19 คน จะต้องได้ 60,000 กว่าบาทต่อปี ไม่ใช่จำนวน 30,000 บาท .-สำนักข่าวไทย