สงขลา 1 ก.ย.- ทีมนักวิจัย ม.สงขลานครินทร์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ “ไก่เบตง” ได้พันธุ์ลูกผสม “ไก่เบขลา” จุดเด่นใกล้เคียงพ่อพันธุ์ แต่ระยะเวลาเลี้ยงลดลง ทำให้ต้นทุนลดลงทั้งเรื่องค่าแรงงาน-ค่าอาหาร ราคาขายก็ลดลงด้วย ถือว่าได้ประโยชน์ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยง รวมถึงผู้บริโภค
ทีมนักวิจัยสาขาวิชานวัตกรรมการผลิตสัตว์และการจัดการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ไก่เบตง เป็นไก่ลูกผสม โดยการใช้ไก่พ่อพันธุ์เป็นไก่เบตงพันธุ์แท้ ผสมกับไก่แม่พันธุ์ทางการค้า โดยใช้เวลาในการพัฒนาสายพันธุ์ เก็บข้อมูล จนได้ไก่พันธุ์ลูกผสม และมีการประกวดตั้งชื่อจนได้ชื่อ “ไก่เบขลา” คำว่า “เบ” ได้ลดทอนจากคำว่า เบตง เอาแค่ “เบ” ตัด “ตง” ออก เพราะว่าเป็นไก่เบตงที่นำมาผสมพันธุ์ให้เป็นไก่เบตงลูกผสม “ขลา” ได้ลดทอนจากคำว่า สงขลา เอาแค่ “ขลา” ตัดคำว่า “สง” ออก เพราะว่าได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา
“ไก่เบขลา” เป็นไก่ที่มีจุดเด่นใกล้เคียงกับพ่อพันธุ์อย่างไก่เบตง แต่ลดระยะเวลาในการเลี้ยง จาก 6 เดือน เหลือ เพียง 3 เดือนครึ่ง ก็จะได้ไก่น้ำหนักตัวที่ 2 กิโลกรัม ในขณะที่ราคาเมื่อชำแหละแล้วก็ปรับลดลง จากกิโลกรัมละ 200 บาทเศษ เหลือกิโลกรัมละ 160-170 บาท เพราะเมื่อการเลี้ยงสั้นลง ต้นทุนทั้งเรื่องค่าแรงงาน ค่าอาหาร ก็ปรับลดลง จึงถือว่าได้ประโยชน์ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยง รวมถึงผู้บริโภคด้วย
ดร.ธัญจิรา เทพรัตน์ หัวหน้าสาขาวิชานวัตกรรมการผลิตสัตว์และการจัดการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การให้ความสนใจพัฒนาสายพันธุ์ไก่เบตงนั้น เพราะเป็นไก่เนื้อพื้นเมืองของ อ.เบตง จ.ยะลา มีจุดเด่นคือ เนื้อแน่น หนังกรอบ ไขมันน้อย คอลลาเจนสูง ทำให้ไก่เบตงมีชื่อเสียงจนเป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งยังถือเป็นบริการทางวิชาการ ในฐานะที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นมหาวิทยาลัยในภาคใต้ ส่วนการเลี้ยงไก่เบขลาในเชิงพาณิชย์นั้น ก็จะต้องมีการทำวิจัยต่อเนื่อง ในเรื่องปริมาณการเลี้ยงรวมถึงจุดคุ้มทุน
ขณะนี้งานวิจัยในเฟสแรกนั้น ได้ไก่เบขลา ถือว่าประสบความสำเร็จในเรื่องเวลาเลี้ยงและคุณภาพเนื้อ และยังต้องต่อยอดงานวิจัยในเรื่องของอาหาร ที่จะเน้นการใช้วัตถุดิบอาหารในพื้นที่ เพื่อให้ได้อาหารที่มีความเหมาะสม ไก่โตเร็ว คุณภาพดี แต่ต้นทุนลดต่ำลง ผู้สนใจติดต่อได้ที่สาขาวิชานวัตกรรมการผลิตสัตว์และการจัดการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.-สำนักข่าวไทย