ทำเนียบรัฐบาล 15 ส.ค.-รองโฆษกรัฐบาล เตือนนายจ้างสถานประกอบการ ยื่น Name list แรงงาน 4 สัญชาติที่มีสถานะไม่ถูกต้อง ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้วันนี้เป็นวันสุดท้าย
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ผ่อนผันการทำงานของคนต่างด้าวเพื่อให้มีแรงงานพื้นฐานที่เพียงพอสำหรับสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด19 โดยคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2565 ได้เห็นชอบให้กระทรวงแรงงานเปิดให้นายจ้างและสถานประกอบการดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงาน 4 สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่มีสถานะไม่ถูกต้อง ซึ่งกระทรวงแรงงานได้แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ช่วงนั้น การดำเนินการในช่วงที่ 1 จะเปิดให้ดำเนินการถึงวันนี้(15 ส.ค.) เป็นวันสุดท้าย
ทั้งนี้ การดำเนินการช่วงที่ 1 เป็นการเปิดให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการลงทะเบียนเพื่อบันทึกข้อมูลขอรับชื่อผู้ใช้พร้อมรหัสผ่านและยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (Name list) โดยกระทรวงแรงงานเปิดให้ดำเนินการระหว่างวันที่ 1-15 ส.ค. 2565 ซึ่งตามขั้นตอนนี้ นายจ้างหรือสถานประกอบการต้องลงทะเบียนเพื่อบันทึกข้อมูลและขอรับชื่อผู้ใช้งานพร้อมรหัสผ่าน ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th จากนั้นยื่น Name list ต่อกรมการจัดหางาน พร้อมด้วยรูปถ่ายปัจจุบันของคนต่างด้าวซึ่งเห็นภาพใบหน้าชัดเจน แนบหลักฐานผู้รับมอบอำนาจจากนายจ้าง ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์ alienfivejuly.doe.go.th
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการช่วงที่ 2 จะดำเนินการระหว่างวันที่ 16 ส.ค.- 15 ต.ค. 2565 ซึ่งนายจ้างหรือผู้ประกอบการต้องชำระค่าธรรมเนียมผ่านธนาคารกรุงไทย โดยมีค่ายื่นคำขอฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานฉบับละ 900 บาท หลังจากนั้นยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ตามแบบ บต.50 พร้อมแนบเอกสารประกอบการยื่นคำขออนุญาตทำงานตามแบบ อ.4 โดยนายทะเบียนจะออกใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อให้คนต่างด้าวใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานและใบเสร็จรับเงินที่ได้จากธนาคารกรุงไทย เป็นหลักฐานคู่กัน แสดงว่าได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
ช่วงที่ 3 ระหว่างวันที่ 16 ส.ค. 2565 -13 ก.พ. 2566 คนต่างด้าวใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวพร้อมกับใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม แสดงต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม ในระหว่างที่ยังไม่เกิดสิทธิประกันสังคมต้องซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข หรือซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัยเอกชน และในช่วงเวลานี้ต้องนำคนต่างด้าวไปดำเนินการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ตรวจสุขภาพ 6 โรค ยื่นเอกสารและพิจารณาอนุมัติในระบบ จัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ
“การดำเนินการโดยกระทรวงแรงงานทั้ง 3 ช่วงเป็นการผ่อนผันเพื่อให้ทำงานชั่วคราว แต่หากทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับอนุญาตแล้วประสงค์จะทำงานต่อไปจะต้องต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานครั้งนี้จะสิ้นอายุ และยื่นขอตรวจลงตรา VISA ภายใน 13 ก.พ. 2566 เพื่อนายทะเบียนจะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
ทั้งนี้ นายจ้างหรือสถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าว ที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1–10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694.-สำนักข่าวไทย