รัฐสภา 3 ส.ค.- รัฐสภายังมีปัญหาองค์ประชุม “ชวน” เตือนระวังคนไม่ร่วมประชุม-ลงมติ ถูก “คู่แข่ง” ประจาน ไร้ความรับผิดชอบ ตอนเลือกตั้ง ด้าน “ส.ว.” ขออย่าใช้ปมการเมือง ขวางกฎหมายปฏิรูป
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. โดยได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ… ที่กรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จ ทั้งนี้พบว่าการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวได้เป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากมีการอภิปรายจากสมาชิกรัฐสภา รวมถึงกรรมาธิการที่สงวนคำแปรญัตติไว้ทุกมาตรา และพบว่ายังมีปัญหาเรื่ององค์ประชุมที่ทำให้ต้องใช้เวลารอองค์ประชุมครบจำนวน คือ เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ที่มี 727 คน คือ 364 คน เป็นเวลานาน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ใช้เวลาพิจารณากว่า 3 ชั่วโมงผ่านไปได้เพียง 5 มาตรา และยังเจอปัญหาเรื่องรอองค์ประชุม จนทำให้ นายคำพอง เทพาคำ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลลุกสอบถามนายชวนว่า เมื่อปี 2512 ต้องใช้เวลารอองค์ประชุมนานแบบปัจจุบันหรือไม่
โดยนายชวน กล่าวตอบว่า ตอนนั้นมีสมาชิก 219 คน ประชุมที่ตึกอนันตสมมาคม การลงมติคือ ยกมือ ในห้องมีเจ้าหน้าที่นับจำนวน ไม่มีการกดบัตร ส่วนการอภิปรายต้องยกมือ แล้วเดินออกไปที่ไมโครโฟน ไม่ได้สะดวกแบบนี้ สมัยนั้นมี ส.ส.จำนวนน้อย และที่นั่ง มีจำกัด
นายชวน กล่าวด้วยว่า ทั้งหมดอยู่ที่พวกเรา ถึงอย่างไร ตนก็ชื่นชม อย่างน้อยเสียงข้างมาก จะเกิน 2-3 คน แต่แสดงให้เห็นความรับผิดชอบของคนส่วนใหญ่ที่ดีอยู่ เราทำหน้าที่ 3 ปี กว่า สถาบันนี้ มีส่วนประคับประคองให้กระบวนการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยไปได้ โดยสภานี้ทำหน้าที่ของตนเอง
“ผมชื่นชมพวกเราทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีเท่าที่ทำได้ ข้อที่ไม่ควรละเลย คือ หน้าที่ที่ต้องประชุมและลงมติ ผมไม่หวังว่า จะได้100 ทั้ง100 แต่เกินกึ่งหนึ่ง 2 คน หรือ 5คน ก็ชื่นชม ที่บางคนให้ประกาศชื่อคนกดบัตรแสดงตนนั้น ผมขอบอกว่าไม่มีความลับ มีเอกสารในสภา ที่ผมเตือนด้วยความหวังดี เพราะมีประสบการณ์ คือ ชื่อของเราจะปรากฎตอนหาเสียงเขตเลือกตั้ง ที่คู่ต่อสู้เอาไปประจารณ์ ความไม่รับผิดชอบไม่เข้าประชุม ผมเตือนด้วยความหวังดี ให้ระวัง วันนี้ไม่เกิด วันหน้าเกิด ประชาธิปไตย ที่ทุกคนมีสทธิเปิดเผยข้อมูล ทั้งคำพูดและการลงมติในสภา ไม่เป็นความลับ” นายชวน กล่าว
ขณะที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. ในฐานะประธานกมธ.ฯ หารือด้วยว่าขอให้สมาชิกร่วมพิจารณาร่างกฎหมายปฏิรูปดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วง และผ่านกฎหมายดังกล่าวให้ได้ ตนกังวลเห็นบรรยากาศลงมติใช้เวลานาน เพื่อรอองค์ประชุม ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีประเด็นทางการเมืองอย่างไร ขอใหช่วยขับเคลื่อนกฏหมายปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อประชาชน เพราะไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง และหลังจากใช้เวลารอองค์ประชุมเกือบ 30 นาที พบว่ามีผู้แสดงตน 366 คน ส่วนการลงมติ พบว่ามีผู้ใช้สิทธิ 367 คน ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งมาเพียง 3เสียง เท่านั้น.-สำนักข่าวไทย