กทม.25 ก.ค.- “จุลพันธ์” ระบุ ลือหึ่ง ฟื้นสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย100คน ด้วยการงดเว้นข้อบังคับ ปัดตอบทิศทางเพื่อไทย ย้ำหากเดินหน้าใช้ 500คนหาร จ่อไม่ร่วมโหวต ชี้กระบวนการไม่ถูกต้อง
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 26 กรกฎาคม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ต่อเนื่องในวาระสอง ที่ค้างประมาณ 10 มาตรา ต่อท่าทีของพรรคเพื่อไทย ว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวที่จะงดเว้นการใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาเพื่อกลับไปแก้ไขมาตรา 23 ว่าด้วยสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ จากเดิมที่มติของรัฐสภาเห็นชอบให้ใช้จำนวน 500 คนหาค่าเฉลี่ย ให้กลับไปเป็นใช้จำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ย หากเป็นประเด็นดังกล่าวสามารถเดินต่อไปด้วยกันได้ แต่หากกระบวนการยืนยันที่จะใช้จำนวน 500 หาค่าเฉลี่ย พรรคเพื่อไทยคงไม่สามารถร่วมพิจารณาได้ แต่จะงดออกเสียงหรือไม่ร่วมลงมตินั้นต้องพิจารณาในการประชุมอีกครั้ง แต่จะอยู่ร่วมเป็นองค์ประชุมเพื่อให้การพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญเดินหน้าต่อไปได้
นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า การแก้ไขมาตรา 23 ให้ใช้จำนวน500 คนหาค่าเฉลี่ยนั้น ถือเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบเพราะการฝ่ายบริหารแทรกแซงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ อีกทั้งหากรู้ว่าเดินไม่ได้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จะเลือกวิธีแก้ไขใดก็ตาม ทั้งเดินหน้าแก้ไขเนื้อหา เพื่อดันให้ผ่านวาระสาม เพื่อหวังให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำความเห็นส่งกลับมารัฐสภา พรรคเพื่อไทยจะไม่ยุ่งเกี่ยว
“หากสุดท้ายเสียงข้างมากยอมรับว่ารู้ว่าทำผิด และโหวตคว่ำ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ฐานะเสียงข้างน้อยหยุดเขาไม่ได้แต่คำถามสำคัญคือกระบวนการเลือกตั้งที่จะมาถึง ช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้าต้องไปต่อได้อย่างไร หากเดินต่อไม่ได้ จะมีกฎหมายเลือกตั้งใดมารองรับหากรัฐบาลออกเป็นพระราชกำหนด จะมั่นใจอย่างไรว่ายุติธรรมและเป็นคุณกับการเลือกตั้งกับทุกฝ่าย ดังนั้นเงื่อนไขที่รัฐบาลผูกไว้ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ดึงดันอยากได้สูตร 500 คนหาค่าเฉลี่ย ต้องดำเนินการเอง แต่ฝ่ายค้านยืนยันจะไม่ร่วมหากการพิจารณานั้นเดินไปในทิศทางที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ” นายจุลพันธ์ กล่าว
เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะหาทางออกด้วยการยื้อให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทำไม่เสร็จภายใน 180 วัน นายจุลพันธ์ กล่าวเป็นวิธีหนึ่ง แต่การนัดประชุมรัฐสภาสัปดาห์นี้ นัดไว้ 2 วัน ดังนั้นยังไงเรื่องต้องค้างอยู่จะให้หยุดด้วยการถอนร่างออกไป เป็นประเด็นที่กมธ.และเสียงข้างมากในรัฐสภาต้องดำเนินการหาช่องทาง แต่ที่ผ่านมากมธ.ใช้เวลาพิจารณาหลายเดือนและปรับแก้ไขหลายประเด็นจากร่างหลักที่ ครม. เสนอมา ดังนั้นหากจะให้ตกโดยครบ 180 วัน กังวลว่าประเด็นที่กมธ.แก้ไขรายละเอียดเพื่อให้เกิดความรัดกุม และเป็นประโยชน์กว่าร่างเดิมของครม.ต้องตกไปด้วย ดังนั้นในทิศทางลงมติของพรรคเพื่อไทยต้องพิจารณาข้อเสนอในที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง.-สำนักข่าวไทย