ทำเนียบรัฐบาล 20 ก.ค.- “พล.อ.ประวิตร” พอใจสหรัฐจัดอันดับไทยแก้ค้ามนุษย์ระดับ Tier 2 ท่ามกลางวิกฤติโควิด ชี้การจัดระดับที่ดีขึ้นส่งผลรูปธรรม 3 ด้าน ทั้งการดำเนินคดี บังคับใช้กฎหมายจริงจัง การคุ้มครองผู้เสียหาย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความก้าวหน้าของการดำเนินนโยบายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย เป็นไปตามเป้าหมายในการปฏิบัติการอย่างจรังจัง จนได้รับการยกระดับเทียร์ 2 (Tier 2) ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจัดทำรายงาน TIP Report 2022 (Trafficking in Persons Report) ประจำปี 2565 ระบุสถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทย โดยระบุว่า รัฐบาลไทยแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้นในการต่อสู้กับการลักลอบค้ามนุษย์ ภายใต้ข้อจำกัดของการเผชิญวิกฤติการระบาดของโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยเร่งบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 ที่มีเป้าหมายยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในทุกขั้นตอนของกลไกการส่งต่อระดับชาติ
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า จากการปฏิบัติการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ส่งให้ผลการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในคดีค้ามนุษย์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จากจำนวนจับกุม และดำเนินคดีในปี 2563 จาก 133 คดี เพิ่มขึ้นเป็น 188 คดี และในช่วง เม.ย. 64-มี.ค.65 ซึ่งดำเนินการข้อเสนอแนะในรายงานทิพรีพอร์ต (2021 US TIP Report) จนสำเร็จครบทั้ง 15 ข้อ ขณะเดียวกันได้ริเริ่มโครงการสำคัญ (Flagship Project) อีก 4 โครงการ ได้แก่ 1. จัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วย กลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 2. จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ระดับประเทศ 3. จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ และ 4. ออกมาตรการเชิงรุกด้านการป้องกันเด็กจากการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยระดับสากลอย่างยั่งยืน
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯ พิจารณาเห็นว่า ประเทศไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ แต่มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการ และมีความพยายามเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเวลาการรายงานปี 2564 และแม้ว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น การสืบสวนคดีค้ามนุษย์มีจำนวนเพิ่มขึ้น การพัฒนากลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) และระยะเวลาการฟื้นฟูไตร่ตรอง (Reflection Period) การจัดทำคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงานสำหรับผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ตามมาตรา 6/1 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การริเริ่มสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ จำนวน 17 คน การจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์แห่งใหม่ การจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับพนักงานตรวจแรงงานในการส่งต่อกรณีที่อาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ไปยังทีมสหวิชาชีพ และการระบุตัวผู้เสียหายได้จำนวนปี 2564 เป็นต้น
“การจัดระดับที่ดีขึ้นของประเทศไทยในปีนี้ เกิดจากการทำงานร่วมกันขับเคลื่อนจนมีผลดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมใน 3 ด้านสำคัญ ทั้งด้านการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง การพัฒนากลไกการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหาย โดยคำนึงถึงสภาวะทางจิตใจและยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งการทำงานเชิงป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ในกลุ่มเสี่ยงและแรงงานต่างด้าว โดยถือเป็นความสำเร็จอีกระดับหนึ่ง ประเทศไทยจะยังคงมุ่งมั่นป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องเพื่อขจัดการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป” พล.อ.ประวิตร กล่าว.-สำนักข่าวไทย