กรุงเทพฯ 20 ก.ค. – “พล.อ.ประวิตร” โชว์ผลงานด้านปราบค้ามนุษย์ สหรัฐฯ ยกระดับประเทศไทยดีขึ้นจาก Tier 2 Watch List เป็น Tier 2 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2565 และมอบรางวัล “TIP Report Heroes” ให้แก่นางอภิญญา ทาจิตต์ จากประเทศไทย
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 เวลา 23.00 น. กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ TIP Report (Trafficking in Persons Report) ประจำปี 2565 โดยยกระดับประเทศไทยจาก “เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง” (Tier 2 Watch List) เป็น Tier 2 ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ได้มอบรางวัล “TIP Report Hero” ให้แก่ นางอภิญญา ทาจิตต์ รองผู้อำนวยการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลจากประเทศไทย จากจำนวนผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 5 คน จาก 5 ประเทศ เพื่อเป็นการยกย่องบุคคลที่อุทิศตนเพื่อต่อสู้กับปัญหาการค้ามนุษย์
โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ระบุว่า สหรัฐฯ พิจารณาเห็นว่า ประเทศไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ แต่ยังมีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการ และมีความพยายามเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเวลาการรายงานปี 2564 และเมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น การสืบสวนคดีค้ามนุษย์มีจำนวนเพิ่มขึ้น การพัฒนากลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) และระยะเวลาการฟื้นฟูไตร่ตรอง (Reflection Period) การจัดทำคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงานสำหรับผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ตามมาตรา 6/1 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การริเริ่มสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ จำนวน 17 คน การจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์แห่งใหม่ การจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับพนักงานตรวจแรงงานในการส่งต่อกรณีที่อาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ไปยังทีมสหวิชาชีพ และการระบุตัวผู้เสียหายได้จำนวนปี 2564 เป็นต้น
ทั้งนี้ รายงานได้ระบุข้อเสนอแนะสำคัญสำหรับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย จำนวน 14 ข้อ ซึ่งคล้ายคลึงกับปีที่ผ่านมา เช่น การเสนอให้ไทยเพิ่มการดำเนินคดีและตัดสินลงโทษที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะกรณีการค้ามนุษย์ด้านการบังคับใช้แรงงาน สืบสวนและดําเนินคดีเชิงรุกกับเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และลงโทษผู้กระทำผิดด้วยบทลงโทษที่เหมาะสมเพิ่มความสามารถให้แก่ผู้เสียหาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่ในการเดินทางเข้าออกสถานคุ้มครองและเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารได้โดยอิสระ และทบทวนระยะเวลาการอยู่ในสถานคุ้มครองเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้เสียหายจะไม่อยู่ในสถานคุ้มครองนานเกินความจำเป็น การบังคับให้มีการจ่ายค่าจ้างอย่างสม่ำเสมอ มีข้อกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าธรรมเนียมจัดหางานให้กับแรงงานต่างด้าว และให้สิทธิแก่ลูกจ้างในการถือครองเอกสารประจำตัว และเอกสารทางการเงิน และสัญญาจ้างของตนเอง เป็นต้น
ด้าน พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ เปิดเผยว่า การจัดระดับที่ดีขึ้นของประเทศไทยในปีนี้ เกิดจากการทำงานของ “ทีมประเทศไทย” ภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันขับเคลื่อนจนมีผลดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมใน 3 ด้านสำคัญ ทั้งด้านการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง การพัฒนากลไกการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายโดยคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจและยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งการทำงานเชิงป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ในกลุ่มเสี่ยงและแรงงานต่างด้าว โดยถือเป็นความสำเร็จอีกระดับหนึ่ง ของประเทศไทยจะยังคงมุ่งมั่นป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องเพื่อขจัดการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป- สำนักข่าวไทย