กทม. 16 ก.ค.- “นิกร” จ่อ ร่วมลงชื่อกับ อดีตประธานกมธ.แก้รธน.-สมาชิกรัฐสภา ยื่น ศาลรธน.ตีความ ปม คำนวณปาร์ตี้ลิส 500 หาร
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. รัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่มีข้อกังวลปัญหาเรื่องการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ด้วยการหาร 500 ว่า ตอนนี้ที่มีปัญหาลึกซึ้งคือเมื่อแก้มาตรา 128 ไปแล้ว ส่งผลต่อระบบการเลือกตั้งในมาตราที่เหลืออยู่บางมาตราในการกำหนดคำนวณคะแนน และทางรัฐสภายังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ต่อไป อันที่จริงแล้วควรจะมีการชี้มาเลยว่าจะกระทบต่อมาตราใด อย่างใด และต้องแก้ไขเป็นอย่างไร ซึ่งล่าสุด กมธ.เสียงข้างน้อย ให้ความเห็นมาเป็นการภายใน ว่าอยากจะขอให้มีการประชุมกรรมาธิการฯขึ้น เพื่อปรับปรุงแก้ไข ในกฎหมายลูกมาตราอื่นๆที่จะมีผลกระทบ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นของกมธ.หลายคนยังเห็นว่า ไม่มีอำนาจ ต้องให้ทางรัฐสภาสั่งการดำเนินการแก้ไข กมธ. ไม่มีอำนาจใดตามข้อบังคับเพราะถือว่าได้ทำหน้าที่ส่วนแรกเสร็จสิ้นแล้ว
นายนิกร กล่าวว่า ตนเคยให้ความเห็นไปแล้วว่าการคำนวณด้วยการหาร 500 ไม่สามารถนำมาใช้คำนวณปาร์ตี้ลิสได้ เนื่องจากเกิดปัญหา ‘แฮงค์โอเวอร์’ แบบเยอรมัน และจะมีปัญหาตามมาอีกมาก เช่นที่ตนพบว่ามีปัญหาที่ไม่เคยมีที่ไหนในโลก คือ ‘แฮงค์-อัพ’ อีกด้วย คือ สมมุติว่าในการเลือกตั้งเขตมีการทุจริตแล้วโดนใบแดงให้เลือกตั้งใหม่ เนื่องจากไปเอาส.ส.ทั้ง 100 และ 500 รวมกันหาร จะทำให้ ส.ส.พึงได้สะเทือนทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ยังมองไม่เห็นทางออก
นายนิกร กล่าวว่า การพิจารณากฎหมายลูกขณะนี้ขั้นตอนยังไม่จบ จำเป็นจะต้องให้จบทุกมาตราก่อน และเมื่อจบแล้วขั้นตอนต่อไปคือต้องนำร่างที่แก้ไขเสร็จแล้วส่งไปตามมาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญ คือส่งไปให้ กกต. เพราะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นผู้เสนอร่าง หาร 100 มาตลอดทาง ซึ่งกกต. มีหน้าที่ที่จะต้องให้ความเห็นว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ กกต. จะต้องพิจารณาด้วยว่าสิ่งที่แก้ไขไปนั้นจะทำได้หรือไม่ในเชิงปฏิบัติจริง ซึ่งหากเห็นว่าทำไม่ได้ก็อาจเสนอให้กลับไปใช้หาร 100 ก็ได้ ถ้าถึงตรงนั้นก็จะกลับมาที่รัฐสภา และรัฐสภามีทางเลือกสองทาง คือ ดำเนินการปรับปรุง แก้ไขให้เป็นไปตามที่กกต.ชี้ หรือยืนยันตามมติเดิม
นายนิกร กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการแก้ไขมาตรา 23 ว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ นั้น ทราบว่าพรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นว่าขัดรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันอีกคณะหนึ่งที่เตรียมยื่น คือชุดที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานกมธ.แก้รธน. และตน ในฐานะเลขาฯกมธ. ที่กำลังประสานเพื่อรวบรวมเสียงจากสมาชิกรัฐสภาที่เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เราต้องทำให้เกิดความชัดเจนเพื่อไม่ให้มีปัญหาในอนาคตได้ ดังนั้นไม่ว่าถึงอย่างไรก็ต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน
นายนิกร กล่าวว่า ส่วนกรณีที่บางฝ่ายเข้าใจว่าฝ่ายค้านสามารถยื่นศาลรธน.ตีความก่อนที่จะมาแก้ไขเพิ่มเติม นั้น ตนเห็นว่าไม่สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้โดยอัตโนมัติ คงต้องส่งไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นการแก้กฎหมายลูกที่เกี่ยวเนื่องกับกกต. ซึ่งในประเด็นนี้ เคยให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบแล้วก็ยืนยันตามนั้น และสอบถามไปที่นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ก็ได้ให้ความเห็นยืนยันว่าในชั้นนี้ไม่ได้ส่งศาลรัฐธรรมนูญเลย แต่ต้องส่งไปที่กกต.ก่อน.-สำนักข่าวไทย