กรุงเทพฯ 13 ก.ค. – “นิกร” ชี้มติรัฐสภาแก้ใช้ฐาน 500 คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไปกระทบกับมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีผู้สงวนความเห็นปรับแก้ไว้ เชื่อเกิดปัญหาในทางปฏิบัติแน่นอน
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง รัฐสภา กล่าวถึงขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ที่รัฐสภา มีมติเสียงข้างมากปรับแก้ให้ใช้การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยใช้ฐาน 500 แทน 100 ว่ามติการปรับแก้ของรัฐสภาดังกล่าวจะไปกระทบมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเกิดปัญหาว่ากรรมาธิการฯ ไม่สามารถเรียกประชุมเพื่อแก้ไขได้ เนื่องจากเป็นมาตราที่รัฐสภาจะต้องพิจารณาหลังจากนี้ แต่กรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก ได้ยืนยันเจตนารมณ์ในการพิจารณาให้ใช้ฐาน 100 ในการคำนวณ จึงไม่ได้เตรียมการใดๆ ไว้ และคงต้องรอให้ถึงการพิจารณาในมาตราที่เป็นปัญหา เพื่อให้รัฐสภามีมติงดใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และสั่งให้กรรมาธิการฯ นำร่างกลับไปปรับปรุงแก้ไข
ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่ามติการแก้ไขสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของรัฐสภา ที่ให้ใช้ฐาน 500 ในการคำนวณ จะเกิดปัญหาในขั้นตอนปฏิบัติ ซึ่งเมื่อรัฐสภาพิจารณาวาระ 3 เสร็จสิ้นแล้ว และหากส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ไปพิจารณาตรวจสอบอีกครั้ง อาจมีข้อแนะนำให้รัฐสภา กลับไปใช้ฐาน 100 ในการคำนวณและต้องตีกลับมายังรัฐสภา เพื่อไปแก้ไขอีก จึงแนะนำไปยังกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยที่สนับสนุนให้ใช้ฐาน 500 ในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้เตรียมพิจารณาหาทางออกว่าจะแก้ไขอย่างไร เพราะสงวนคำแปรญัตติไว้เพียงมาตราเดียว แต่เมื่อรัฐสภามีมติเสียงข้างมากให้แก้ไขใช้ฐาน 500 ในการคำนวณ จึงเกิดการไปกระทบกับมาตราอื่น ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากตามมา และมีปัญหาในทางปฏิบัติแน่นอน
ส่วนสุดท้ายจะทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกตีตกไป เพราะการปรับแก้ไม่สมบูรณ์หรือไม่นั้น นายนิกรปฏิเสธที่จะระบุให้ความเห็น โดยระบุเพียงว่าไม่ทราบ แต่สิ่งสำคัญคือ การออกกฎหมายจะต้องสามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยเฉพาะ กกต. ในฐานะผู้ปฏิบัติ
นายนิกร ยังกล่าวถึงกรณีที่มีพรรคการเมืองยังคงสนับสนุนให้ใช้ฐาน 100 ในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เตรียมส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความชอบในการคำนวณด้วยฐาน 500 ว่าตามขั้นตอน เมื่อรัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 แล้ว รัฐสภาจะต้องส่งกลับไปยัง กกต. เพียงองค์กรเดียว ในฐานะผู้ปฏิบัติ เพื่อพิจารณาว่าขัดรัฐธรรมและสามารถปฏิบัติตามได้หรือไม่ ให้แล้วเสร็จภายใน 10 วันก่อน เมื่อ กกต. ให้ความเห็นและส่งกลับมายังรัฐสภาแล้ว หากต้องแก้ไขจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่หากไม่ต้องแก้ไขก็จะส่งไปให้นายกรัฐมนตรี ตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 5 วัน ซึ่งในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ที่ประสงค์จะส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความวินิจฉัยสามารถร้องขอได้ในช่วงเวลานั้น
สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพรรคการเมือง ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะมีการพิจารณาต่อในวาระที่ 2 และ 3 อีกครั้ง ในวันที่ 26-27 กรกฎาคมนี้.-สำนักข่าวไทย