รัฐสภา 4 ก.ค.-“ชินวรณ์” ยันสูตรปาร์ตี้ลิสต์ส์ต้องหาร 100 ห่วงถ้าหาร 500 ขัดหลักการ รธน.ที่แก้ไข แนะวิปรัฐบาลทำงานให้รอบคอบ รัดกุม เป็นเอกภาพ อย่าไปดูหน้างาน
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ยังมีข้อถกเถียงกันเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าจะหาร 100 หรือหาร 500 ว่า การประชุมรัฐสภา วันที่ 5-6 ก.ค.นี้ หลังจากพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เสร็จแล้ว เข้าใจว่าน่าจะใช้เวลาไม่เกินครึ่งวัน จากนั้นจะต่อด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งประเด็นของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
“ในฐานะที่ผมเป็นรองประธาน กมธ.ฯ และเป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามพรรคร่วมรัฐบาล ยืนยันอีกครั้งว่า การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 นั้น เป็นร่างที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอมาที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งตรงกับร่างของรัฐบาล เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบในขั้นรับหลักการและเข้าสู่ กมธ. ทาง กมธ.ไม่ได้แก้ไขอะไรเลย แต่ก็มีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งมี กมธ.สงวนความเห็น 11 คน” นายชินวรณ์ กล่าว
นายชินวรณ์ กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว เมื่อร่างผ่านความเห็นชอบของ กมธ.แล้ว วิปรัฐบาลต้องยืนยันในหลักการดังกล่าวว่าเป็นร่างของเราเอง และการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรนูญ เมื่อพิจารณาเสร็จในวาระ 2-3 ต้องเสนอกลับไปยัง กกต.ให้ความเห็นชอบอีกครั้ง ดังนั้น เมื่อเป็นร่างของ กกต.แล้ว จะให้ความเห็นชอบที่แตกต่างกันไป เป็นหารด้วย 500 เป็นเรื่องที่ กกต.ไม่สามารถทำได้ หากทำแบบนั้น กกต.จะถูกกล่าวหาได้เช่นเดียวกัน
นายชินวรณ์ กล่าวว่า ที่สำคัญที่สุดในส่วนของกระบวนการที่จะประกาศใช้เป็นกฎหมาย หากเสนอผิดไปจากหลักการที่เสนอเข้ามา จะเป็นเหตุผลหนึ่งต่อไปในอนาคตที่จะนำไปสู่การร้องศาลรัฐธรรมนูญได้ และท้ายที่สุดการดำเนินการดังกล่าวก็อาจจะถูกกล่าวหาอีกเช่นกันได้ว่ามีผลประโยชน์ขัดกันหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีปัญหามาก ส่วนประเด็นมาตรา 91 ที่เสนอให้หารด้วย 500 นั้น ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไปตามมาตรา 93 และมาตรา 94
“ขอย้ำว่า ในชั้น กมธ.ได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ และเห็นตรงกันว่า เราแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่ากับว่าได้แก้ไขเจตนารมณ์ต่อประเด็นการเลือกตั้งไปแล้ว คือ จากระบบสัดส่วนผสม จากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ และให้มีการคิดคำนวณอย่างชัดเจน คือ ส.ส.เขต 400 เขต ใครได้คะแนนสูงสุดก็เป็น ส.ส. ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้คำนวณจากจำนวนบัญชีรายชื่อ คือ 100 ดังนั้น รัฐบาลจึงควรทำตามหลักการนี้” นายชินวรณ์ กล่าว
นายชินวรณ์ กล่าวว่า ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังมีเสียงแตกกัน ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็น กมธ. และเป็น 1 ใน 11 คนที่สงวนความเห็นเรื่องนี้ จึงมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นเรื่องนี้ ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นสถาบันทางการเมือง เมื่อมีประเด็นนี้ขึ้นมา ตนจะนำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งว่าพรรคจะมีมติอย่างไร
เมื่อถามว่า เรื่องนี้จะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องกระทบกันในทางการเมือง ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายสำคัญ ตนได้เตือนตลอดว่า อาจจะส่งผลกระทบในทางการเมืองได้ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เราจะไปพิจารณาหน้างานหรือพิจารณาโดยไม่ได้ตรวจทานร่วมกันคงไม่ได้
“ช่วงนี้เป็นช่วงสุดท้ายของสมัยประชุมแล้ว จึงอยากเรียกร้องว่าต้องมีกระบวนการทำงานอย่างรัดกุม ซึ่งวิปรัฐบาลต้องมาทบทวน ตรวจทานส่วนที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนทุกเรื่อง ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจ วิปรัฐบาลจะมาพูดว่าค่อยไปดูกันหน้างานอย่างนี้ไม่ได้ เพราะวิปรัฐบาลต้องสร้างความเป็นเอกภาพให้เกิดขึ้นในช่วงสุดท้ายของสภาฯ” นายชินวรณ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย