ทำเนียบรัฐบาล 21 มิ.ย.-นายกฯ เผยครม. เห็นชอบมาตรการบรรเทาค่าครองชีพและพลังงาน ขยายมาตรการเดิมเป็นเวลา 3 เดือน ขอความร่วมมือโรงกลั่น นำกำไรส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลด ปชช.เดือดร้อน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการเร่งด่วนที่ช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจจากวิกฤติพลังงานที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบที่หนักหน่วงหลายมิติ และส่งผลให้ราคาน้ำมันของตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล บางประเทศงดส่งออกโภคภัณฑ์ที่จำเป็น ทำให้ห่วงโซ่อุปทานของโลกขาดแคลน และเงินเฟ้อสูงทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา สูงถึง 8% ทำให้ค่าครองชีพของประชาชนปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สินค้าราคาแพง และเสี่ยงที่จะฟื้นตัวจากเศรษฐกิจที่ชะงักลงในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง มีความกังวลใจ และได้สั่งการให้มีการหารือตลอดเวลา เพื่อเสนอแนะแนวทางที่เป็นประโยชน์ที่สามารถดำเนินการและบรรเทาความเดือดร้อน
“ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน ทั้งมาตรการใหม่และขยายมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้ อาทิ ตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม และคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ให้กับผู้ขับขี่รถแท็กซี่ ที่เข้าร่วมโครงการ ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. ถึงวันที่ 15 ก.ย. / กำหนดราคาขายปลีกก๊าซ LPG 408 บาท ต่อถัง 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม ถึงกันยายน และขยายเวลาช่วยเหลือส่วนลดราคาก๊าซ LPG แก่ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่เกิน 100 บาทต่อรายต่อเดือน ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงกันยายน นอกจากนี้ ยังมีส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3 เดือน ลดราคาน้ำมันดีเซล 50% ในส่วนราคาขายสูงกว่า 35 บาทต่อลิตร ออกไปอีก 3 เดือน และคงค่าการตลาดน้ำมันดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรึ กล่าวว่า ขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมัน นำส่งกำไรจากค่าการกลั่นส่วนหนึ่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื่อเพลิง เพื่อลดภาระราคาค่าน้ำมันให้กับประชาชน ทั้งดีเซลและเบนซิน ในช่วง 3 เดือน กรกฎาคมถึงกันยายน ซึ่งต้องขอบคุณสถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือ ในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบมาตรการภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยให้บริษัทเอกชนที่เป็นนิติบุคคล จัดงานสัมมนา รวมถึงงานอีเวนท์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ สามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ โดยในเมืองหลัก 1.5 เท่า เมืองรอง 2 เท่า เป็นระยะเวลา 6 เดือน
“ขอความร่วมมือประชาชนร่วมประหยัดพลังงาน รวมถึงภาคอุตสาหกรรม และการขนส่งทั้งการเปิด-ปิดไฟ ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น เน้นการประชุมออนไลน์ ขณะที่ภาครัฐกำหนดให้ลดใช้พลังงานลงร้อยละ 20 สถานการณ์ด้านพลังงานจะไม่สิ้นสุดในระยะเวลาอันใกล้ โดยจะให้ประชุมหารือเตรียมการรับตามสมมติฐานกรณีที่สถานการณ์ยืดเยื้อออกไป ทั้งมิติพลังงานและอาหาร ที่ต้องวางแผนระยะยาว ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยั จะหาแนวทางช่วยเหลือผู้มีรายได้ด้วย บนพื้นฐานวินัยการเงินการคลังที่มีความสมดุลที่จะไม่ให้เกิดภาระในอนาคตมากเกินไป และจำเป็นต้องคุ้มค่า ประหยัด ขอให้เข้าใจรัฐบาลด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว.-สำนักข่าวไทย