ทำเนียบฯ 19 เม.ย.- นายกฯ เล็งหารายได้เพิ่มนำเงินมาออกมาตรการช่วยประชาชน เผยยังอยู่ระหว่างหารือว่าจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มหรือไม่ แย้มให้แนวทางโครงการคนละครึ่งเฟส 5 แต่ต้องจัดหางบฯ เน้นทำนโยบายให้อยู่รอด ปลอดภัย เพียงพอ และยั่งยืน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ถือเป็นการประชุม ครม.ครั้งแรกหลังเทศการสงกรานต์ ซึ่งผ่านไปได้ด้วยดี และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนและบุคลากรทางแพทย์ที่ช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา และมองว่า สงกรานต์ปีนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์ของการเร่ิมต้นใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจตามโรดแมปของเราหลังโควิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว การลงทุน การส่งออก และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ปัญหาอยู่ที่งบประมาณที่มีอยู่ปัจจุบัน เพราะต้องใช้งบฯในการดูแลคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงผู้สูงอายุ ใช้เงินไปกว่า 8 แสนล้านบาท ซึ่งการจะเพิ่มงบฯ ในการดูแลต้องดูจากงบประมาณที่รัฐบาลหาได้
นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางการใช้จ่ายงบประมาณที่เหลือในปี 65 และการจัดทำงบประมาณปี 66 ว่า ต้องทำอย่างไรนำพาประเทศผ่านวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้ โดยให้หลักการว่า ต้องทำให้อยู่รอดปลอดภัย พอเพียง และนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาด้านการเงินการคลัง ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการรายงานมาแล้วว่า เรายังมีเสถียรภาพที่เข้มแข็งเพียงพอ แต่งบประมาณที่นำมาบริหารประเทศอาจต้องลดลงบ้าง ซึ่งรัฐบาลได้ใช้งบประมาณจำนวนมากดูแลกลุ่มเปาะบางหรือผู้มีรายได้น้อย และจำเป็นต้องเข้าไปดูแลธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ เพราะเป็นแหล่งจ้างงาน และให้เกิดห่วงโซ่ไปด้วยกัน รวมไปถึงการพัฒนาฝีมือแรงงานต่างๆ เพื่อนำไปสู่การมีรายได้สูงขึ้นในอนาคต
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นห่วงการใช้เงินของประชาชน เพราะมีรายได้ลดลง แต่สินค้าอุปโภคบริโภคและราคาพลังงานมีราคาสูงขึ้น ทำให้รายได้ของประชาชนไม่เพียงพอ เพราะค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน เกือบถึง 50% ของรายได้แล้ว หรืออาจมากกว่านั้น ดังนั้นประชาชนก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย หากมีเงินน้อย ก็เลือกใช้ เลือกกินให้เหมาะสมกับสถานะของเราในขณะนี้ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้สั่งการให้มีมาตรการต่างๆ ทยอยออกมาเรื่อยๆ แต่จำเป็นต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มเติมให้ได้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม.มีมติมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อลดค่าครองชีพ ให้กับผู้ประกอบการและประชาชนในภาคขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง แท็กซี่ กลุ่มมีรายได้น้อย กลุ่มแรงงาน ทั้งผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้ประกันตน และเกษตรกรที่ไ ด้รับผลกระทบจากราคาสินค้า
ส่วนจำเป็นต้องมีการกู้เพิ่มหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าว่า ยังอยู่ระหว่างการหารือ แต่ให้เตรียมมาตรการเอาไว้ แต่ต้องทำให้อยู่รอด ปลอดภัย เพียงพอ ยั่งยืน และต้องดูว่า งบประมาณมีอยู่เท่าไหร่ และจำเป็นต้องหาเพิ่มหรือไม่ ซึ่งถ้าเราไม่ต้องใช้งบประมาณ เพื่อดูแลเรื่องโควิด ตนเองคิดว่า ไทยจะมีเสถียรภาพที่ดีกว่านี้ แต่เป็นสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมก็ต้องบริหารให้ดีที่สุด
ส่วนโครงการคนละครึ่งเฟส 5 นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ให้แนวทางไปแล้ว แต่ยอมรับว่าต้องใช้งบประมาณมากพอสมควร และส่งผลดีให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ แต่ปัญหาคือ จะต้องหางบประมาณมาจากไหน
“วันนี้เงินทุกบาท ทุกสตางค์ก็ใช้จ่ายอย่างประหยัด เท่าที่มีงบประมาณอยู่ หรือเงินกู้ที่กู้มาใช้ไปมากแล้วในการมีชีวิตอยู่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็ยังมีความเสี่ยงหลายอย่างด้วยกัน มาเจอสงครามเข้าไปอีก คือ ทุกรัฐบาลไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อน ทุกคนก็พยายามช่วยเต็มที่แล้ว ก็ขอความร่วมมือให้เข้าใจ ถ้าโจมตีกันไปกันมาก็ไม่สำเร็จสักอย่าง เพราะเราต้องฟังเสียงประชาชนด้วย”พลเอกประยุทธ์ กล่าว
นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้มีการเร่งรัดให้มีการเจรจาทางการค้ากับหลายประเทศทั้งเอ็มโอยูและเอฟทีเอ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการอยู่ และหลายประเทศสนใจและพุ่งเป้ามาที่ไทย เพราะเห็นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพหลายอย่าง เป็นประเทศที่ปลอดภัย และต่างประเทศอยากมาลงทุน สำหรับมาตรการผ่อนคลายสถานการณ์โควิด-19 จะมีการปลดล็อกและปรับให้สะดวกขึ้น จากเดิมจะเริ่มในเดือนก.ค.ปรับให้เป็นเดือนมิ.ย. ซึ่งยังอยู่ระหว่างการหารือ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ และทำให้ธุรกิจต่างๆเดินหน้าไปได้ด้วยดี ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาติดเชื้อน้อยมาก ส่วนการติดเชื้อในประเทศก็ยังสามารถควบคุมได้ .-สำนักข่าวไทย