รัฐสภา 4 เม.ย.- กมธ.สิทธิมนุษยชน ส.ว. ยันเดินหน้าสางคดีแตงโม แม้แม่ขอถอนเรื่องออก เหตุเป็นคดีสาธารณะ ขอเป็นดับเบิ้ลเช็กให้สังคม “สมชาย” แจงมีคนต้องเปลี่ยนสถานะ พบข้อมูลชัดเชื่อมโยงบุคคลนอกเรือให้คำปรึกษา
คณะกรรมาธิการ(กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา (ส.ว.) ประชุมเพื่อพิจารณาการดำเนินงานตามหน้าที่และอำนาจของกมธ.ฯ ในการสอบหาข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของน.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์หรือ แตงโม โดยเชิญผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและผู้บังคับบัญชากลุ่มงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประธานวุฒิสภาเข้าให้ข้อมูล
นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธาน กล่าวว่า วันนี้(4 เม.ย.) ที่ประชุมจะพิจารณาหลังจากที่นางภนิดา ศิระยุทธโยธิน มารดาน.ส.ภัทรธิดาขอถอนเรื่องออกจากกมธ.ฯ ซึ่งสามารถทำได้ แต่ขอชี้แจงว่าเมื่อรับเรื่องนั้น กมธ.ฯ พิจารณา 2 เรื่อง ไม่ใช่เรื่องบุคคลธรรมดาแต่เป็นเรื่องที่กระทบต่อสาธารณะและกระทบความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ สังคมและสื่อมวลชนให้ความสนใจ และมีข้อสงสัยเป็นจำนวนมาก
“ยืนยันว่าเราจะทำงานต่อ ส่วนวันนี้จะพิจารณาว่าจะต่อในรูปแบบใดและเดินหน้าอย่างไร แต่ยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อแน่ แม้แม่จะถอนเรื่องไปแล้ว เพราะขณะนี้เราได้พยานหลักฐานมาบางส่วนแล้ว เช่น กล้องวงจรปิดที่ได้มาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและผลการผ่าศพทั้ง 2 ครั้งที่ได้มาตั้งแต่ต้น มีเจ้าหน้าที่ของเราไปบันทึกข้อมูลไว้หมด เรื่องนี้ยังไม่จบและเราจะทำหน้าที่ของเราติดตามในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นดับเบิ้ลเช็คให้สังคม และจะไม่ไปสั่งการหรือแทรกแซง ขอให้ตำรวจทำสำนวนได้อย่างสบายใจ เพราะต้องการให้เกิดความเชื่อมั่นในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำของตำรวจด้วย ซึ่งถึงขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยกับมารดา เห็นแต่ที่แถลงข่าวออกมา ส่วนหลังไมค์นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ ในฐานะทนายความของมารดาน.ส.ภัทรธิดา ก็พูดกับผมว่ากมธ.ฯ จะทำอะไรไม่ได้ติดใจ แต่ในเมื่อเขามีหน้าที่มาถอนก็ถอน ซึ่งหลายเรื่องที่ทนายเดชาแถลงก็ใกล้เคียงกับข้อมูลที่เรามีอยู่” นายสมชาย กล่าว
ส่วนกรณีการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวที่ระบุว่ากรณีนี้จะมีผู้ที่ต้องเปลี่ยนสถานะแน่นอน นายสมชาย กล่าวว่า ไม่ได้หมายความว่าหมายถึง 5 คนบนเรือหรือไม่ อาจจะเป็นคนเดิมซ้ำแต่เพิ่มคดีเพิ่มข้อหาหรือจะเป็นคนใหม่ ซึ่งขณะนี้ถูกตั้งข้อหาไปแล้ว 3 คน ที่เหลือกันเป็นพยานได้ ถ้าให้ความร่วมมือ แต่ถ้าไม่ให้ต้องแจ้งให้ทราบว่ามีความผิดตามกฎหมาย เช่น การให้การเป็นพยานเท็จ การพยายามทำลายหลักฐาน หรือแม้กระทั่งเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ส่วนบุคคลที่เป็นให้คำแนะนำก็ต้องดูว่าเป็นปกติหรือเพื่อปิดปก เพราะถ้าปกติสามารถทำได้แต่หากปกปิดก็ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งขณะนี้เราไม่ทราบ ต้องสอบพยาน
“จากการสอบสวนของกมธ.พบความเชื่อมโยงของบุคคลนอกเรือ โดยมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีให้ข้อมูลกับกมธ.ฯ ว่า มีที่ปรึกษาซึ่งเดิมจะให้พามามอบตัว ซึ่งอาจจะเป็นคนแนะนำหรือไม่ก็ตาม แต่มีบุคคลภายนอกแน่นอน เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อมีเหตุก็ต้องมีคนเข้าไปช่วย แต่จะช่วยแบบไหน ขณะนี้ตำรวจสอบไปแล้ว แต่ยังไม่ระบุว่ากี่คนและไม่ได้บอกว่าเป็นนักกฎหมาย อดีตข้าราชการหรือข้าราชการปัจจุบัน และเราไม่ได้ซักโดยละเอีบด แต่ข้อมูลในโทรศัพท์ของพยานและผู้ต้องหาในคดีมีครบ ไม่ว่าจะการโทรเข้า-ออกที่เราสืบได้ รวมถึงภาพที่อยู่ในเครื่องที่กู้คืนได้ แม้จะลบทิ้งบางส่วน” นายสมชาย กล่าว.-สำนักข่าวไทย