กสม. 24 มี.ค.- กสม. ชี้เจ้าหน้าที่ของรัฐเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ จ.เชียงใหม่ โดยไม่ได้รับความยินยอมและสมัครใจ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายภาณุวัฒน์ ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ร่วมแถลงว่า ที่ประชุม กสม.ได้พิจารณากรณีที่ชาวบ้านหมู่บ้านแกน้อยหย่อมบ้านถ้ำ และบ้านหนองเขียว ในตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับผลกระทบจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหลายฝ่ายเข้าปิดล้อมหมู่บ้านและเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ ของชาวบ้าน โดยอาศัยเหตุแห่งการปราบปรามการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่แนวชายแดน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าในระหว่างวันที่ 15 –16 กรกฎาคม 2564 เจ้าหน้าที่ทหารกองร้อยทหารม้าที่ 4 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 5 ได้ตรวจยึดยาเสพติดจำนวนมากในพื้นที่แนวชายแดนของอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และตำรวจภูธรภาค 5 ได้สั่งการให้ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ปิดล้อมและตรวจค้นเป้าหมายยาเสพติดในพื้นที่อำเภอฝาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตรวจยึดยาเสพติดได้ และพื้นที่อำเภอใกล้เคียง รวมถึงอำเภอซึ่งมีพื้นที่ติดแนวชายแดน โดยให้ดำเนินการจัดเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมของกลุ่มคนที่น่าสงสัยว่ากระทำความผิด และมีความเกี่ยวเนื่องกับคดียาเสพติด
โดยสถานีตำรวจภูธรนาหวาย จึงได้ปิดล้อมและตรวจค้นหมู่บ้านแกน้อยหย่อมบ้านถ้ำ และบ้านหนองเขียว ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีกลุ่มชาติพันธ์ลาหู่อาศัยอยู่ และได้เก็บเยื่อบุกระพุ้งแก้มเพื่อตรวจสารพันธุกรรมของชาวบ้านที่อาศัยในหมู่บ้านทั้งสองแห่งจำนวน 51 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารได้ปิดทางเข้าออกหมู่บ้านเพียงระยะเวลาชั่วขณะหนึ่ง ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ไม่ได้เข้าไปตรวจค้นภายในบ้านพัก เพียงแต่เรียกให้ชาวบ้านออกมาที่ศาลาเอนกประสงค์ของหมู่บ้านและชาวบ้านได้ให้ความร่วมมือ ในชั้นนี้จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตรวจค้นหมู่บ้านดังกล่าว มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
แต่กรณีเก็บเยื่อบุกระพุ้งแก้มเพื่อตรวจสารพันธุกรรมของผู้เสียหายกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมีเอกสารที่แสดงว่า ผู้เสียหายกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอม จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการตรวจเก็บสารพันธุกรรม ไม่ทราบวัตถุประสงค์ในการตรวจเก็บ รวมถึงไม่ทราบว่าวิธีการดังกล่าวจะเป็นการพิสูจน์ตนเอง ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลำเลียงยาเสพติด
นายวสันต์ กล่าวว่า การลงลายมือชื่อให้ความยินยอม เกิดจากการไม่ทราบข้อเท็จจริง เนื่องจากผู้เสียหายจำนวนหนึ่งอ่านหนังสือไม่ได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ ได้อธิบายถึงวัตถุประสงค์ในการตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมให้กับผู้เสียหายทราบ การขอความยินยอมจากผู้เสียหายในกรณีนี้ จึงยังไม่สอดคล้องกับหลักการให้ความยินยอมโดยอิสระ ซึ่งกำหนดให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีทางเลือกในการตัดสินใจว่า จะให้หรือไม่ให้ข้อมูลส่วนใดบ้าง ในชั้นนี้จึงเชื่อว่า ผู้เสียหายกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ไม่ได้ให้ความยินยอมอย่างสมัครใจโดยอิสระ และปราศจากการอยู่ภายใต้อำนาจกดดันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ผู้เสียหายที่ถูกตรวจเก็บไม่กล้าที่จะปฏิเสธบุคคลที่มีอำนาจเหนือกว่า นอกจากนี้ยังปรากฏว่า มีการตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมที่ยังเป็นเด็กอายุยังไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ จำนวน 3 ราย ดังนั้นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงย่อมมีความเสี่ยงที่จะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ
ดังนั้น กสม.จึงมีแนวทางถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เน้นย้ำและทำความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ในการแจ้งข้อมูลที่จำเป็นให้แก่บุคคลที่จะต้องถูกเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม โดยผู้ที่จะถูกจัดเก็บต้องให้ความยินยอมโดยสมัครใจ.-สำนักข่าวไทย