ทำเนียบ 18 มี.ค.- ศบค. เตรียมประเมินสถานการณ์โควิดเป็นโรคประจำถิ่น เดือน ก.ค.นี้ พร้อมตั้งเป้าวัคซีนเข็มกระตุ้นต้องได้ 70% ก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผย ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานแผนและมาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่น ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ยังอยู่ในระยะต่อสู้กัน ถ้าช่วงมีนาคมถึงต้นเมษายน ช่วยป้องกันได้อย่างดี ไปในระยะที่ 2 ช่วงเมษายนถึงพฤษภาคมจะเป็นช่วงคงตัว และจะค่อยๆ ลดลงตามการคาดการณ์ช่วงปลายพฤษาคมจนถึงเดือนมิถุนายน และในวันที่ 1 กรกฎาคมน่าจะเห็นตัวเลขลดลงได้ แต่แผนทั้งหมดต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคน แต่สถานการณ์จริง ในวันที่ 1 ก.ค. เป็นอย่างไรต้องพิจารณาอีกครั้ง โดยต้องคำนึงถึงมาตรการ 4 ด้าน ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและสังคม และด้านสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ส่วนเป้าหมายการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่นนั้น ต้องทำให้การเข้าถึงการดูแลรักษาได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ มีอัตราป่วยตายไม่เกินร้อยละ 0.1 และความครอบคลุมวัคซีนเข็มกระตุ้น ต้องมากกว่าร้อยละ 60 และต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการรับมือและปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ทางกรมควบคุมโรคได้รายงานผลการฉีดวัคซีน ในกลุ่ม 60 ปีขึ้นไปมีประมาณ 12.7 ล้านคน ในส่วนเข็มที่ 1 และ 2 ฉีดไปแล้ว 10 กว่าล้านคน แต่เข็มที่ 3 ฉีดไปเพียง 4 ล้านกว่าคน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีป่วยหนักและเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องเร่งมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย พร้อมตั้งเป้าว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นต้องได้ 70% ก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์และได้เตรียมวัคซีนรองรับไว้ 3 ล้านโดส
ทั้งนี้ จากการรายงานผู้เสียชีวิตตั้งแต่ ม.ค.-ก.พ. มี 928 รายนั้น มีกลุ่มผู้สูงอายุถึง 2.17 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เสียชีวิตถึง 557 ราย จึงฝากให้คนในครอบครัวควรเร่งผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีน แต่ผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม มีผู้เสียชีวิต 23 ราย ซึ่งลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ 41 เท่า
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 27,071 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 26,826 ราจ จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 93 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 103 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 49 ราย โดยผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 3,303,169 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 21,522 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายด้วยการตรวจ ATK จำนวน 23,157 ราย ส่วนผู้เสียชีวิต 80 ราย เป็นเพศชาย 39 ราย เพศหญิง 41 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 24,075 ราย
จังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 3,252 ราย, นครศรีธรรมราช 1,717 ราย, ชลบุรี 1,256 ราย, สมุทรปราการ 976 ราย, สมุทรสาคร 942 ราย, พระนครศรีอยุธยา 677 ราย, ฉะเชิงเทรา 656 ราย, ปทุมธานี 653 ราย, นครปฐม 642 ราย และ ระยอง 628 ราย
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบ ผลการดำเนินการ มาตรการเจอ แจก จบ ระหว่างวันที่ 1-13 มีนาคม มีจำนวนผู้รับบริการสะสม 207,534 ราย มีสถานบริการทั้งหมด 901 แห่ง และมีการจ่ายรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ 52% จ่ายยาฟ้าทะลายโจร 24% และจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ 26% .- สำนักข่าวไทย