ทำเนียบ 16 มี.ค.-นายกฯ ย้ำ คนร.ทำงานโปร่งใส รักษาผลประโยชน์ของชาติ พร้อมรับทราบการดำเนินการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2565 โดยที่ประชุมได้พิจารณาการจัดทำแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566 – 2570 ที่สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและพลิกโฉมประเทศไทยสู่ความยั่งยืน โดยให้มีการกำหนดกรอบทิศทางหลักในการพัฒนารัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง เพื่อนำ 13 หมุดหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายของประเทศได้ ซึ่งในแผนดังกล่าวจะมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio – Circular – Green Economy : BCG Model) และสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการปรับรูปแบบธุรกิจ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถสนองต่อวิถีชีวิตถัดไป (Next Normal) ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 และการสร้างความมั่นคงในด้านการค้า การลงทุน การผลิต และการเกษตรของประเทศรองรับ จากผลกระทบต่างๆ จากสถานการณ์ในต่างประเทศ นอกจากนี้ ให้สนับสนุน SME และมีการบูรณาการทำงานร่วมกันของรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาครัฐอื่น และเอกชนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจทั้ง 6 แห่ง เช่น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการตามแผนพลิกฟื้นธุรกิจระยะสั้น ประจำปี 2564 ทำให้มีกำไรจากที่มีผลขาดทุนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง คนร. ได้กำชับให้มีการดำเนินการตามแผนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมทั้งในเรื่องทางการเงินและการให้บริการประชาชนที่ดีขึ้น
สำหรับการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจในปี 2563 และ 2564 รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีผลการประเมินที่ดีขึ้น โดย คนร. ได้มีนโยบายให้รัฐวิสาหกิจปรับตัว เตรียมการ และกำหนดแนวทางการบริหารจัดการให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านการรองรับ Next Normal การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งให้มีการแก้ปัญหาต่างๆ ที่มีมาตั้งแต่อดีตให้สำเร็จ และดูแลผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และภาวะวิกฤติต่างๆ ในปัจจุบัน
นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า ต้องดำเนินการให้เกิดความโปร่งใส ยุติธรรม ให้เกิดผลประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน พร้อมฝากให้พิจารณาว่า ปัญหาในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจมีพื้นฐานของปัญหาอยู่ตรงไหน จะแก้ไขได้อย่างไร.-สำนักข่าวไทย