กสม. 10 ก.พ. – กสม.แนะ กสทช. เร่งจัดทำแนวทางการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชน เคารพอัตลักษณ์ทางเพศ หนุนทำกฎหมายส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงกรณีตรวจสอบการนำเสนอข่าวสารที่กระทบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ หลังได้รับเรื่องร้องเรียนหลายกรณีระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2564 กล่าวอ้างว่า สถานีโทรทัศน์เคเบิ้ลทีวีแห่งหนึ่ง และสำนักข่าวแห่งหนึ่ง เสนอข่าวสารโดยพาดหัวข่าวด้วยถ้อยคำที่อาจกระทบต่ออัตลักษณ์และศักดิ์ศรีของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น “รวบสาวสอง ค้ากามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี” “จับกะเทยฆ่าสาวทอม” “มีสาวประเภทสองรุมทำร้าย” ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ รวมทั้งเป็นการสร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคม ทั้งนี้ บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงสิทธิของบุคคลด้วย
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่าสถานีเคเบิ้ลทีวีผู้ถูกร้องได้เสนอข่าวที่มีข้อความตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างจริง แต่ยังไม่อาจถือได้ว่ามีการผลิตซ้ำและต่อเนื่อง จนถึงขนาดที่ทำให้สังคมเกิดอคติต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ประกอบกับภายหลังได้รับการร้องเรียน ผู้ถูกร้องได้แก้ไขการนำเสนอข่าวสารที่มีเนื้อหาดังกล่าวแล้ว ขณะที่สำนักข่าวผู้ถูกร้องอีกแห่ง จากการตรวจสอบไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ในชั้นนี้จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสองกระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กสม. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังสถานีเคเบิ้ลทีวีผู้ถูกร้อง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และรัฐสภา โดยเห็นว่าในส่วนของสถานีเคเบิ้ลทีวี ผู้ถูกร้องในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ต้องไม่นำเสนอหัวข่าว ความนำ และภาพประกอบจนทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน และต้องนำเสนอข่าวโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องระมัดระวังการใช้ถ้อยคำเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้านอัตลักษณ์ รวมทั้งควรปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน
พร้อมทั้งแนะให้สำนักงาน กสทช. จัดทำและผลักดันร่างแนวทางในการนำเสนอเนื้อหารายการเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี และให้รัฐสภาเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งมีหลักการสำคัญในการคุ้มครองเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนไปพร้อมกัน.-สำนักข่าวไทย