รัฐสภา 8 ก.พ. – รัฐสภามีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ขณะรัฐบาลยืนยันกฎหมายนี้เป็นประโยชน์แก่ผู้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. … ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
โดยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ตามที่มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้รัฐกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง ประกอบกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายได้กำหนดให้มีการปรับปรุงกฎหมายในการกำหนดโทษอาญาให้เหมาะสมกับสภาพความผิดหรือมาตรการลงโทษให้เหมาะสมกับการกระทำความผิด และฐานะผู้กระทำความผิดเพื่อไม่ให้บุคคลต้องรับโทษหนักเกินไป หรือต้องรับภาระในการรับโทษที่แตกต่างกัน เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีสามารถชำระค่าปรับได้ แต่ผู้ที่มีฐานะยากจนต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ และต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ขณะที่นานาประเทศได้เริ่มปรับเปลี่ยนบทลงโทษความผิดอาญาเป็นมาตรการอื่นที่ไม่ใช่โทษอาญามากขึ้น ดังนั้น จึงควรพัฒนากฎหมายไทยให้สอดคล้องกับนานาประเทศ เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน และขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ขณะที่สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายเห็นด้วยอย่างกว้างขวาง แต่มีบางส่วนแสดงความกังวลว่าร่างกฎหมายฉบับนี้อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนรวยและยากจนได้
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่หรือศาลเปลี่ยนโทษปรับสถานเดียวไปเป็นพินัยได้ ซึ่งหลักของการปรับเป็นพินัยจะไม่ถือว่าเป็นโทษอาญา และหากไม่มีเงินจ่ายจะไม่เปลี่ยนเป็นกักขังและไม่ลงในทะเบียนอาชญากรรม โดยอาจสั่งให้เปลี่ยนไปทำงานสาธารณะช่วยเหลือสังคมหรือให้สามารถผ่อนชำระได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้กระทำผิดไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคนจนหรือคนรวย
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์รับหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วยคะแนน 544 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 35 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน.-สำนักข่าวไทย