พรรคเพื่อไทย 25 ม.ค.-เพื่อไทยถามนายกฯ พร้อมเป็นเจ้าภาพประชุมแค่ไหน ขณะขาดภาวะความเป็นผู้นำ เสนอกุญแจ 3 ดอกฟื้นฟูการท่องเที่ยว ของประเทศไทย ผ่านการประชุมเอเปค จับตาใช้กว่า 3 พันล้านคุ้มค่าหรือไม่
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ที่ปรึกษาคณะทำงานด้านนโยบายการต่างประเทศ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ คณะทำงานด้านต่างประเทศ พรรคเพื่อไทย และ นายนพ ชีวานันท์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวกรณีที่ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) โดยนายวรวัจน์ กล่าวว่า ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และกำลังจะเป็นเจ้าภาพอีกครั้งในปีนี้ ซึ่งไทยกำหนดหัวข้อการประชุม “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.” แต่จนถึงขณะนี้พรรคเพื่อไทยยังไม่เห็นความพร้อมของรัฐบาลที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ
“ไทยกำหนดแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ เศรษฐกิจสีเขียว แต่ถ้าย้อนไปดูงบประมาณของรัฐบาล ยังไม่ค่อยเห็นการใช้เศรษฐกิจชีวิตภาพ และเศรษฐกิจสีเขียวเองก็ยังไม่เข้าเป้าที่วางไว้ โดยการจัดประชุมเอเปคภายใต้การนำของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วันนี้ภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีถือว่าขาดภาวะการณ์เป็นผู้นำ จะเห็นได้จากควบคุมพรรคแกนนำรัฐบาลและพรรคแกนหลักรัฐบาลไม่ได้ วันนี้ประเทศเกิดความปั่นป่วน ขาดความเชื่อมั่น อีกทั้งช่วง 8 ปีภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศหดตัวอย่างรุนแรง ประชาชนเดือดร้อน เกิดภาวะเงินเฟ้อ เงินมีค่าน้อยลง ประชาชนไม่มีเงินเหลือในกระเป๋า เป็นภาวะที่อันตรายต่อประเทศ” นายวรวัจน์ กล่าว
นายวรวัจน์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยขอถามรัฐบาลว่ามีความพร้อมแค่ไหนในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ซึ่งประเด็นที่จะสร้างประโยชน์ให้ประชาชน สร้างประโยชน์ให้ประเทศ มีอะไรบ้าง เพราะประเด็นที่รัฐบาลตั้งไว้เหมือนภาพลวงตา ไม่เป็นจริง ต้องตอบว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ขอให้รัฐบาลบอกว่าเตรียมตัวอย่างไร คนไทยจะมีส่วนร่วมในการประชุมเอเปค ประชาชน ภาคธุรกิจจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง หรือเพียงแต่ได้เป็นเจ้าภาพในการประชุมเอเปค
“8 ปีภายใต้การบริหารของพล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไปต่างประเทศมากมาย แต่ผลที่กลับมาไม่ได้อะไร ถูกตัดจากบัญชี GSP(Generalized System of Preference) หรือระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี หรือมีเพียงแค่อาวุธยุทโธปกรณ์กลับมาเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่คนไทยต้องการเห็น นับย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพโดยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้จัดการประชุมอย่างสมบูรณ์แบบทุกด้าน ผู้นำแต่ละประเทศเห็นความสำคัญกับวาระการจัดงานของประเทศไทย เกิดผลการเจรจาจนสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมากมาย แต่ในขณะนี้ไทยซึ่งรับตำแหน่งเจ้าภาพอย่างเป็นทางการมาแล้ว 2 เดือน บรรยากาศกลับเงียบสงัด” นายวรวัจน์ กล่าว
นายนพ วานันท์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ส่งผลให้ข้อตกลงต่างๆ ชะงักลง อาทิ ข้อตกลงเขตการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป เพราะประเทศไทยมีผู้นำที่อ่อนแอและไร้ความสามารถในการสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไร้ความสามารถทางการทูต ส่งผลต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียเปรียบทางการค้าในสุด ดังนั้น สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเร่งดำเนินการ คือ การสร้างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและเพิ่มบทบาทในฐานะผู้จัดงานเอเปค
นายนพ กล่าวว่า การพัฒนาระบบธุรกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นหัวใจหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันในยุค New Normal ได้แก่1.สร้างความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทย 2.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยมีความรู้และขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศทั่วโลก 3.จัดหาแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำและปรับให้โครงสร้างภาษีต่ำเพื่อให้ธุรกิจดิจิทัลรายย่อยสามารถเติบโตได้ 4.สร้างกฎหมายและมาตรการรองรับควบคุมดูแลให้การค้าการลงทุนในระบบดิจิทัลมีความน่าเชื่อถือและปลอดภัย เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากประเทศอินโดนีเซีย
“แต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เอาแต่ใช้กฎหมายไล่จับเว็บเถื่อน เก็บภาษีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพียงเพราะหาเงินไม่เป็น เก็บรายได้ไม่เข้าเป้า รัฐบาลในฐานะผู้จัดงานเอเปคต้องเตรียมความพร้อมประเทศด้วยแผนพัฒนาธุรกิจดิจิทัลในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ที่ชัดเจนและจับต้องได้มากกว่านี้ ก่อนที่นักลงทุนรุ่นใหม่จะเทเม็ดเงินไปลงทุนในต่างประเทศที่เอื้อต่อการลงทุนใหม่ ๆ ไปหมด” นายนพ กล่าว
นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้เห็นความไม่พร้อมในทุกด้านของรัฐบาล ซึ่งประเด็นที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ คือ การฟื้นฟูความเชื่อมโยงโดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยวอันประกอบด้วย 1. การจัดทำ APEC Frequent Travel Card หรือ AFTC 2.ข้อเสนอ APEC COVID-19 Health Certification Mutual Recognition และ 3. การขับเคลื่อนประเด็น safe passage นั้น เวทีเอเปคได้พยายามหาแนวทางร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัย เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 มาตลอด
“แต่ประเทศไทยไม่พร้อมทุกด้าน โดยพล.อ.ประยุทธ์กลับเป็นผู้นำที่เมินเฉยต่อปัญหาเดิม เพิ่มเติมคือสร้างปัญหาใหม่ พรรคเพื่อไทยมีข้อเสนอ กุญแจ 3 ดอก เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศไทย ผ่านการประชุมเอเปคในครั้งนี้ คือ 1.มาตรการสาธารณสุขในประเทศ ได้แก่ ฉีดเข็ม 3 สั่งยาและผลิตยา เตรียมบริการทางการแพทย์ เตรียม 2.หามาตรการทางการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ เปลี่ยนจากการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินมาเป็นการตรึงประกันภัยโควิด สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวแบบหรูหรา 3.เร่งจัดหานโยบายเพื่อลดและจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวทั้งระบบและโครงสร้าง จากเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้น รับรองและพัฒนา อย่าเน้นแจกตังค์ ควรหาวิธีหาตังค์แทรกซึมเข้าไปด้วย” นายจักรพล กล่าว
นายจักรพล กล่าวว่า ส่วนประเด็นโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ไม่พบว่าแผนพัฒนาของประเทศไทยที่จะนำไปสู่ Zero Carbon ที่จะเป็นแผนการที่ระบุตายตัว หรือมีรายละเอียดที่ชัดเจนที่จะนำไปสู่เป้าหมาย จากการตัดงบประมาณในส่วนของสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลควรมีความจริงใจและแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจน มีหลักเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อแสดงจุดยืนว่าประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านอากาศสะอาดกับนานาประเทศ
“การประชุมเอเปคในครั้งนี้จะตัดสินได้ว่าประเทศไทยจะเป็นแนวหน้าในโลกหรือรั้งท้ายเหมือนเดิม ขอความร่วมมือรัฐบาลอย่าทำให้ประเทศไทยตกต่ำไปมากกว่านี้ในสายตาประชาคมโลก รัฐบาลชุดนี้ไม่เคยใช้ความสัมพันธ์ทางการฑูต ในการเจรจา ด้านการต่างประเทศของไทยอ่อนแอ ไม่เคยใช้ให้เป็นประโยชน์ หากเรื่องเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข เรื่องใหญ่ ๆ คงไม่เกิดขึ้น กรอบงบประมาณ 3,283.10 ล้านบาท ตลอดวาระการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคครั้งนี้ จะคุ้มค่าหรือละลายแม่น้ำอยู่ในน้ำมือท่าน ท่านจะทำให้ประเทศไทยเผชิญอยู่ในสภาวะใด” นายจักรพล กล่าว.-สำนักข่าวไทย