กรุงเทพฯ 29 ก.ย.-อ.เจษฎ์ แนะศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน “พล.อ.ประยุทธ์” ครบวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ส.ค.65 ป้องกันเกิดปัญหาภายหลัง
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีข้อสงสัยเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ว่า กรณีที่จะนับวาระการดำรงตำแหน่งได้ 3 แบบ คือ นับจากวันที่ 24 สิงหาคม 2557 สมัย คสช.ก็จะครบ 8 ปี ในปี 2565 นับจากวันที่ 6 เมษายน 2560 คือวันที่รัฐธรรมนูญ60 มีผลใช้บังคับ นับวันที่ 9 มิ.ย.2562 เป็นวันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้ง ซึ่งส่วนตัวมองว่าควรนับวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 2557 เพราะมีเงื่อนไขว่าประการที่หนึ่ง นายกฯ คือนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ ที่มาจากเหตุใดก็แล้วแต่ก็ถือว่าเป็นนายกฯ และการเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหารไม่ควรได้สิทธิพิเศษมากกว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ประการที่สอง รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตา 171 วรรค4 ระบุว่านายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 8 ปีไม่ได้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่รู้มาก่อนการรัฐประหารปี 2557 และความเห็นของตนมองว่า ตามรัฐธรรมนูญ 60 นายกรัฐมนตรีทุกคนที่เคยดำรงตำแหน่ง เช่น นายชวน หลีภัย นายอานันท์ ปันยารชุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือแม้แต่ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น จะเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมากี่ปีต้องเอา 8 มาตั้งลบแล้วก็เป็นนายกฯได้เท่าที่เหลือแต่อย่างนั้นอาจจะฮาร์ดคอเกินไป ถ้าเอาแบบพอประมาณคือนับคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี หลังมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ประการที่สามคือ การเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับคือ ปี 2550 กับปี2560 โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 171 วรรคสี่ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะเป็นติดต่อกันเกิน 8 ปีไม่ได้ แต่มาตรา 158 วรรคสี่ ระบุนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันได้ไม่เกิน 8 ปีไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ นั่นแปลว่ามีความเข้มข้นกว่าปี 50 และในเชิงเปรียบเทียบอีกจุดหนึ่ง คือ มาตรา 298 ของรัฐธรรมนูญ50 ในบทเฉพาะกาลระบุว่า คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญคงเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่ในมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญปี 60 ระบุว่า คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินก่อนใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งมีความต่างตรงคำว่า ณ วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญคือมีอยู่วันเดียว แต่คำว่า “ก่อน” เป็นได้ย้อนมากกว่า 1 วันซึ่งกว้างมาก อีกทั้งคำว่า คง เป็นจุดที่มีรอยต่อ แต่รัฐธรรมนูญ 60 เป็นรัฐธรรมนูญไปเลยไม่มีรอยต่อ และประเด็นที่สี่ เหตุที่ต้องกำหนดเรื่องการดำรงตำแหน่งได้ 8 ปี เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจ ความมุ่งหมายชัดเจน ดังนั้นตนจึงคิดว่าควรจะนับรวมตั้งแต่ปี 2557 และไปครบวาระในเดือนสิงหาคม 2565
ส่วนจำเป็นต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ รศ.ดร.เจษฎ์ มองว่า ควรยื่นศาลตีความเพื่อให้จบ ไม่เช่นนั้นหลังวันที่ 24 สิงหาคม 2565 อาจเกินการตีรวนพล.อ.ประยุทธ์ กันได้ ซึ่งการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความอาจไม่ใช่การยื่นในช่วงนี้ แต่ควรยื่นก่อนเดือนสิงหาคม 2565 เพราะหากนับตั้งแต่การเป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2557 จริงแล้วเป็นต่อไปเกิดมีการพิจารณาหรือตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจเกิดการถกเถียงกันว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายมิชอบหรือไม่ เพราะการควบคุมความชอบไม่ต้องรอให้เกิดเหตุก่อนก็ได้ เช่น กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยออกมาทั้งที่ยังไม่เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็น ส.ว. รวมถึงการเสนอยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ยังไม่เกิดขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติก่อน นี่คือการควบคุมความชอบรัฐธรรมนูญแบบนามธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่ควรดำเนินการ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหา เป็นเรื่องที่ทะเลาะกัน หากมีผู้ยื่นเรื่องให้ตีความเกิดความชัดเจน เช่นนับตั้งแต่ปี 62 นายกรัฐมนตรีก็ยังทำงานต่อไป และครั้งหน้าจะเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่เพราะอยู่ได้ไม่ยาว แต่ถ้านับปี 57 ก็จะได้ชัดเจนว่าปีหน้านายกรัฐมนตรีจะหมดวาระ และจะทำอย่างไรต่อไป.-สำนักข่าวไทย