รัฐสภา 20 ก.ย.- นักวิชาการ ชี้นายกฯ ลงพื้นที่ถี่ เป็นสัญญาณชี้ว่า นายกฯ อยากไปต่อ เชื่อยังไม่ยุบสภาเลือกตั้งในเร็ววันนี้ คาดเร็วสุดหลังเลือกตั้ง อบต.อย่างน้อย 6 เดือน
นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยถึงกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่แก้ปัญหาให้ประชาชนมากขึ้นว่า เป็นสัญญาณว่าต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อทั้งสมัยนี้และสมัยหน้า ซึ่งความจริงแล้วการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี ถือเป็นเรื่องปกติ แต่จะเป็นที่สังเกตว่าจะเห็นภาพนักการเมือง ทั้งส.ส. ในพื้นที่มาให้การต้อนรับ และสอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรีพูดไว้ว่า จากนี้ไปจะทำงานที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับนักการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะส.ส.ในพื้นที่ ดังนั้นสัญญาณจะเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากนายกฯต้องการไปต่อ และยังต้องการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง ซึ่งค่อนข้างแน่นอนว่า น่าจะยังเป็นพรรคพลังประชารัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่สัญญาณว่าใกล้จะมีการเลือกตั้งในเร็ววันนี้ เพราะการลงพื้นที่ก่อนเลือกตั้งต้องทำล่วงหน้าไม่ใช่ทำแค่ 1-2 เดือน เพราะต้องสร้างภาพลักษณ์ทำงานใกล้ชิดกับนักการเมืองและเห็นผลกับประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นเชื่อว่า ด้วยบรรยากาศและปฏิทินทางการเมือง ที่จะต้องผ่านการเลือกตั้งอบต.ในเดือนพฤศจิกายนไปก่อน จึงเชื่อว่า หากจะยุบสภา เร็วสุดก็ต้นปีหน้า โดยต้องมีเวลาเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่อย่างเร็วสุด 6-8 เดือน
นายสติธร กล่าวถึง Timeline ในการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่า จะต้องใช้เวลาในการพิจารณาอย่างน้อย 4 เดือนหรือหนึ่งสมัยประชุม เพราะดูเหมือนจะง่าย แต่เชื่อว่า ไม่สามารถผ่าน 3 วาระรวดได้ เพราะเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และมีความเห็นต่างกันอยู่ และมีแนวโน้มว่านอกจากจะแก้บทบาทที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว อาจจะไปกระทบมาตราย่อๆในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และอาจจะมีเชื่อมโยงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองด้วย และเมื่อผ่านแล้วก็ต้องให้เวลาคณะกรรมการการเลือกตั้งไปออกระเบียบมารองรับด้วย จึงเชื่อว่าไม่เร็วไปกว่านี้
“ถ้าเอาตามกติกาใหม่ทำพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 เดือน มีเวลาให้กกต. เตรียมตัวอีก 2 เดือน เร็วสุดก็ 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไป ถ้าจะให้เลือกตั้งเร็วสุดก็ได้ราวเดือนพฤษภาคม ถ้าต้องเปลี่ยนกติกาใหม่แก้รัฐธรรมนูญให้เรียบร้อย แก้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และยังมีเงื่อนไขในการเตรียมความพร้อมของกกต.เอง เช่นการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ต้องเปิดให้ประชาชนมา เห็นชอบด้วยอย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งพวกนี้ต้องใช้เวลา ดังนั้น 6 เดือนถือว่าเร็วมาก นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาเรื่องของระบบ Primary vote ที่จะต้องตีความว่าต้องทำแนวระดับเขตเลือกตั้ง หรือทำในระดับจังหวัด ซึ่งในพรรคการเมืองก็คงต้องถกเถียงกัน” นายสติธร กล่าว
นายสติธร กล่าวด้วยว่า ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ยังมีข้อถกเถียงเรื่องสูตรการคำนวณส.ส.ที่ยังมีการตีความแตกต่างกัน อาจจะไม่เหมือนกับการเลือกตั้งปี 2554 ทั้งหมดและมีบางคนอาจจะตีความไปไกลว่าจะใช้ระบบเยอรมัน 2 บัตร และบางคนมองว่าตามร่างแก้ไขเปิดกว้าง เปิดเป็นขั้นต่ำคล้ายๆกับร่างของพรรคพลังประชารัฐเดิมที่ตกไป และยังมีประเด็นว่า การแก้ไขหลังจากนี้จะเข้าข่ายขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญเดิมหรือไม่ และหากแก้ไขเสร็จแล้ว มีคนสงสัยก็สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้เช่นกัน.-สำนักข่าวไทย