รัฐสภา 23 ส.ค.-“สมชาย” ยืนยันกมธ.มีอำนาจแก้ รธน.ในมาตราที่เกี่ยวเนื่องได้ ฟันธง มีพรรคการเมืองยื่นศาลรธน.ตีความแน่นอน “วันชัย” ระบุอาจมีส.ว.งดออกเสียงทั้งวาระ 2,3
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงข้อกังวลการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีส.ส.และส.ว.ส่วนหนึ่งกังวลว่าการแก้ไขของรัฐสภาเกินกว่าหลักการที่รับไว้ว่า ในส่วนของวุฒิสภา วิปวุฒิสภาพูดคุยและทำความเข้าใจกันแล้ว เพื่อป้องกันการทำผิดกฎหมาย โดยยอมรับว่าญัตติของพรรคประชาธิปัตย์ไม่สมบูรณ์ เพราะเสนอแก้ไขเพียง 2 มาตรา ส.ว. ในฐานะผู้กลั่นกรองกฎหมายจึงต้องทำให้กฎหมายสมบูรณ์ ซึ่งในข้อบังคับการประชุมข้อ 124 บัญญัติชัดเจนว่าถ้ามีเรื่องใดที่เกินหลักการและเกี่ยวเนื่อง สามารถทำได้ โดยต้องขออนุญาตต่อสภา
“ยืนยันว่าในกลุ่มมาตราที่เกี่ยวเนื่องสามารถแก้ไขได้ ซึ่งข้อกฎหมายระบุไว้ชัดเจน ต้องรอการพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 2 ว่ารัฐสภาจะเห็นชอบตามที่กรรมาธิการปรับแก้หรือไม่ ก่อนเว้นระยะเวลา 15 วันก่อนลงมติในวาระที่ 3 เพื่อให้มีเวลาตัดสินใจ โดยจะต้องมีเสียงส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ด้วย ในทางกฎหมายสามารถทำได้และไม่น่ากังวลใด ๆ เพราะเป็นการปรับแก้ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกัน” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า ภายหลังที่ประชุมลงมติวาระ 3 จะต้องมีผู้ที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความแน่นอน 100% เพราะการแก้ไขระบบการเลือกตั้งเป็นผลระโยชน์พรรคการเมือง และมีผู้เสียประโยชน์ของแต่ละพรรค แต่มั่นใจว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นที่สุด ยืนยันว่ากรรมาธิการมีอำนาจแก้ไขได้ ไม่ผิดกฎหมาย รวมถึงการแก้ไขในมาตราที่เกี่ยวเนื่อง เพราะการแก้ไขของกรรมาธิการฯ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือเป็นประเด็นที่ต้องทำประชามติ มั่นใจจะไม่เป็นปัญหา
ส่วนจะได้ใช้ระบบการเลือกตั้งในการเลือกตั้งคราวต่อไปหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริง รัฐธรรมนูญ 2560 สมบูรณ์ดี แต่เมื่อเสียงของประชาชนหรือพรรคการเมือง ไม่คุ้นชิน ก็เป็นอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไข และรับผิดชอบ ซึ่งผลการเลือกตั้งอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเหมือนปี 2554 ที่พรรครัฐบาล อาจกลายเป็นฝ่ายค้าน และประชาชนไม่ได้อะไรนอกจากบัตร 2 ใบ
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งกลับไปใช้ระบบบัตร 2 ใบของสมาชิกวุฒิสภา ว่า สมาชิกวุฒิสภาได้พูดคุยเรื่องดังกล่าว ซึ่งบางกลุ่มเห็นว่าสามารถทำได้ แต่บางกลุ่มเห็นว่า ทำได้แต่ที่ทำมาเกินกว่าหลักการไปมาก เพราะในข้อเท็จจริง ร่างรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอแก้ไขที่รัฐสภารับหลักการมา เสนอแก้ไขเพียงเพียง 2 มาตรา แต่เมื่อกรรมาธิการฯ แก้ไขจริงและแก้ไขในมาตราอื่น ๆ ด้วย บางฝ่ายจึงมองว่าเป็นการแก้ไขเกินกว่าหลักการข้อเสนอเกินไป
นายวันชัย กล่าวว่า เท่าที่ดูบรรยากาศ ส.ว.ส่วนใหญ่เป็นอิสระ ยังไม่มีลักษณะการชี้นำการลงมติ ประกอบกับยังอยู่ในการพิจารณาวาระที่ 2 ที่ใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาในการลงมติ ซึ่งแม้ว่าส.ว.จะออกเสียงอย่างไรก็แล้วแต่ เชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่น ๆ จะชนะโหวตได้ แต่ตัวชี้ขาดจริง ๆ คือ การพิจารณาวาระที่ 3 ที่ใช้เสียงส.ว.อย่างน้อย 84 เสียง เมื่อถึงตอนนั้น ส.ว.อาจจะมากำหนดหรืออาจมาสรุปหลังการอภิปรายในวาระที่ 2 อีกครั้งว่าส.ว.จะมีแนวทางอย่างไร เพราะมองดูแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นความต้องการพรรคการเมือง เป็นเรื่องของนักการการเมือง ไม่ใช่ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ส.ว.จึงไม่มีท่าทีเคลื่อนไหวมากเท่าใด ส่วนใหญ่ขอให้ส.ว.ตัดสินใจลงมติครั้งนี้โดยอิสระ ผิดจาก 2-3 ครั้งที่ผ่านมา ที่มีแนวทางชัดเจนว่า ส.ว.จะรับหรือไม่รับการแก้ไข
“ยังมี ส.ว.ส่วนหนึ่งกังวลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในระบบการเลือกตั้งครั้งนี้ จะทำให้พรรคใหญ่ชนะการเลือกตั้งแบบกินเรียบ และมีแนวโน้มเกิดเผด็จการรัฐสภาเหมือนในอดีต และยังมีแนวโน้มสำคัญว่าพรรคการเมืองบางพรรคมีสิทธิกลับมาด้วยระบบการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ ทำให้บทเรียนนอดีตและความเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจในอดีต ที่อยู่ต่างประเทศ เป็นข้อวิตกกังวลของส.ว.ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในระบบการเลือกตั้ง เพราะบทเรียนจากอดีตที่บางกลุ่มการเมืองจากการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา คะแนนก็ยังเบ็ดเสร็จเด็ดขาด” นายวันชัย กล่าว
นายวันชัย เชื่อว่าเสียงของพรรคการเมืองพรรคนั้นจะยังนำอยู่ แต่ที่จะได้รับผลกระทบอย่างแรงคือพรรคก้าวไกลและพรรคภูมิใจไทย ดังนั้น อาจทำให้ระบบการถ่วงดุลในสภาเสียไป ทำให้เกิดดำเนินการแบบเบ็ดเสร็จทั้งด้านนิติบัญญัติและบริหาร เพราะการมีเสียงข้างมากเกินไปเป็นสิ่งที่น่ากลัว บ้านเมืองอาจจะไม่สงบได้ จากการตามเช็คบิล ตรวจสอบติดตามกันภายหลัง เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้น ก็พอทราบว่า จะเกิดอะไรขึ้น รวมถึงสัญญาณจากต่างประเทศก็ยังแรงขนาดนี้ ส.ว. จึงยังกังวล
นายวันชัย กล่าวว่า ขณะนี้ส.ว.ยังอยู่ในภาวะที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะไปซ้ายหรือขวา เพราะยังรอดูสถานการณ์และบรรยากาศก่อน ขณะที่ความเห็นของส.ส.ในสภา ก็ยังแตกหลายฝ่าย เพราะเท่าที่สังเกตพรรคภูมิใจไทยไม่เอาด้วยกับการแก้ไขครั้งนี้ หรือแม้แต่ส.ว.บางกลุ่มก็ไม่เอาด้วย เพราะเป็นการแก้ไขกฎหมายที่เกินเลยเกินไป และอาจเป็นบรรทัดฐานในการแก้ไขกฎหมายสำคัญอื่น ๆ ที่อาจเลื้อยเกินหลักการไปได้ แต่มั่นใจว่า การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ในวาระที่ 2 จะสามารถผ่านไปด้วย แม้ส.ว. จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ซึ่งอาจมี ส.ว.ส่วนหนึ่งงดออกเสียงทั้งวาระที่ 2 และวาระที่ 3.-สำนักข่าวไทย