กรุงเทพฯ 25 ก.ค. – โฆษกกองทัพอากาศ ชี้แจงกรณีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ไม่สามารถรับผู้ป่วยโควิดในช่วงนี้ เนื่องจากมีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากติดเชื้อโควิดจากการรักษาผู้ป่วย
พล.อ.ท.ฐานัตถ์ จันทร์อำไพ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ในฐานะโฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยว่า กรณีมีผู้โพสต์คลิปวิดีโอว่า “โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชไม่รับรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนัก” นั้น
จากการตรวจสอบเบื้องต้น ขอแจ้งข้อมูลสำคัญให้ทราบ ดังนี้
โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช มีข้อจำกัดด้านบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงนี้ จึงไม่สามารถรับผู้ป่วยดังกล่าวเข้ารับการรักษาได้ เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.64 เป็นต้นมา มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในหอผู้ป่วยหลายแห่ง โดยเฉพาะในหอผู้ป่วยที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ จำนวน 14 คน และยังมีบุคลากรที่สัมผัสเชื้อโควิดเสี่ยงสูงที่ต้องกักตัวอีกประมาณ 20 คน ทำให้โรงพยาบาลขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งกรณีนี้ หากโรงพยาบาลรับผู้ป่วยเข้ารักษาท่ามกลางสถานการณ์ที่บุคลากรทางการแพทย์มีขีดความสามารถที่จำกัด อาจจะทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
และจากสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 ก.ค.64 โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช จึงดำเนินการแจ้งประชาสัมพันธ์ เรื่อง “แนวทางในการให้บริการผู้ป่วย” ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ให้ประชาชนทราบ โดยจำกัดการให้บริการห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉินเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังคงเหลือปฏิบัติหน้าที่อย่างจำกัด ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 23 ก.ค.64 เวลา 08.00 น. จนถึงวันเสาร์ที่ 24 ก.ค.64 เวลา 08.00 น. ซึ่งระหว่างช่วงเวลานั้น ยังคงรับดูแลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่ต้องรับการตรวจประเมินภายใน 10 นาที ตามที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด
ทั้งนี้ ผู้บังคับบัญชารับทราบถึงความเครียดและความกดดันที่อาจเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ศูนย์กู้ชีพโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งปฏิบัติงานในช่วงนี้ และได้กำชับให้สื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ รวมทั้งตระหนักในความรู้สึกของผู้ป่วยที่มีต่อความคาดหวังในการรักษา เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างราบรื่นและทั่วถึงให้มากที่สุด โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิดที่นอนรอในห้องฉุกเฉิน เพื่อรอเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยโควิด ประมาณ 10-12 คน/วัน รวมทั้งมีผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่บ้าน เพื่อรอส่งต่อเข้าระบบของโรงพยาบาล ประมาณ 200 คน. – สำนักข่าวไทย