รัฐสภา 1 เม.ย.- กมธ.กฎหมายฯ นัดลงมติ จะเรียกประธานศาลฏีกาเข้าชี้แจงหรือไม่ 7 เม.ย.นี้ ขณะที่ “โรม” มั่นใจ 3 อำนาจ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน นัดประชุมเพื่อพิจารณาหนังสือที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการฯ เสนอให้กรรมาธิการกฎหมายฯ เชิญประธานศาลฎีกาเข้าชี้แจงกรณีข่าวลือเรื่องการแทรกแซงจากบุคคลภายนอกที่กำลังแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย โดยในระหว่างการหารือ กรรมาธิการฯ ไม่ได้เปิดให้สื่อมวลชนเข้าร่วมฟัง
จากนั้นนายรังสิมันต์ โรม ในฐานะผู้เสนอเรื่อง และโฆษกกรรมาธิการฯ กล่าวถึงผลการหารือว่า วันนี้ (1 เม.ย. ) กรรมาธิการฯ ยังไม่มีข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว โดยไม่สามารถลงมติได้ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ และกรรมาธิการฯ บางคน ยังกังวลว่าจะเป็นการแทรกแซงอำนาจศาลหรือไม่ ดังนั้นจึงจะส่งเรื่องดังกล่าวให้ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ตรวจสอบอีกครั้งว่ากรรมาธิการฯ มีอำนาจออกหนังสือเรียกประธานศาลฎีกามาชี้แจงเรื่องข่าวลือได้หรือไม่ และมีอำนาจขอเชาวเลขที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาครั้งที่ผ่านมาได้หรือไม่
นายรังสิมันต์ โรม ย้ำว่าการขอความเห็นจากฝ่ายกฎหมาย เพื่อประกอบการพิจารณาในที่ประชุมกรรมาธิการฯเท่านั้น ไม่ไช่ว่าฝ่ายกฎหมายมีความเห็นอย่างไร จะต้องดำเนินการไปอย่างนั้น และคาดว่าความเห็นของฝ่ายกฎหมายจะถูกส่งกลับมายังคณะกรรมาธิการก่อนวันพุธที่ 7 เมษายน เพื่อให้กรรมาธิการประชุมเพื่อลงมติว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปในวันพุธที่ 7 เมษายน เวลา 09.30 น.เป็นต้นไป
ส่วนกรณีที่ นายแพทย์สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกมาแถลงข่าวว่า กรรมาธิการไม่มีอำนาจเรียกประธานศาลฎีกาเข้าชี้แจงได้ โดยอ้างรัฐธรรมนูญมาตรามาตรา 129 อาจเป็นการแทรกแซงอำนาจฝ่ายตุลาการในการพิจารณาอรรถคดีนั้น นายรังสิมันต์ โรม มองว่าอาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และยังไม่เห็นเนื้อหารายละเอียดหนังสือที่ส่งให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณา พร้อมย้ำว่า อำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ สามารถตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ รวมทั้งประธานศาลฎีกาก็ไม่ได้เป็นผู้พิจารณาคดีที่เกิดขึ้น จึงไม่ถือเป็นการยุ่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของศาลแต่อย่างใด.-สำนักข่าวไทย