รัฐสภา 1 เม.ย.-“สุรชัย” ยันถกร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เสร็จภายใน 2 วันนี้ ให้ทันประชุมรัฐสภา 7-8 เม.ย. หลังกฤษฎีกาปรับแก้แล้วเสร็จ ยอมรับหลายประเด็นรายละเอียดมาก แต่มั่นใจ กมธ.เสียงข้างน้อยจะเห็นด้วยกับการแก้ไขและจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาวาระ 3 ได้ ย้ำห่วงปมไม่ได้กำหนดจำนวนประชาชนเข้าชื่อขอทำประชามติ
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. กล่าวถึงกรณีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติที่กฤษฎีกาปรับแก้ ว่า หลักๆจะพิจารณามาตราที่เป็นผลกระทบกับมาตรา 9 ซึ่งจากการได้คุยนอกรอบกับผู้แทนกฤษฎีกาเห็นตรงกันว่า ปรับให้สอดคล้องกับมาตรา 9 แล้ว โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาว่าจะไปขัดกับรัฐธรรมนูญ และให้กระทบกับมาตราที่เหลือให้น้อยที่สุด ดังนั้น ร่างที่ตนจะเสนอให้ที่ประชุม กมธ.พิจารณา คือร่างที่มีการแก้ไขเฉพาะมาตรา 10 และมาตรา 11 ซึ่งทั้ง 2 มาตรานี้ เป็นมาตราที่ระบุถึงรายละเอียดวิธีการทำประชามติ ตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงมติที่มาจาก ครม. รวมถึงมติของรัฐสภา และกฎหมายอื่นๆที่ระบุให้ทำประชามติ แต่เมื่อศึกษามาตรา 9 ที่รัฐสภาผ่านไปอย่างละเอียดแล้วพบว่า บางประเด็นมีรายละเอียดไม่เพียงพอ ถือเป็นความยากระดับหนึ่ง จึงต้องเขียนกฎหมายให้สอดคล้อง เช่น ในร่างที่ให้ประชาชนสามารถเสนอทำประชามติ ไม่ได้บอกว่าต้องใช้จำนวนประชาชนเท่าใด แต่เขียนให้อำนาจ กกต. เป็นผู้กำหนด จึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ กกต. มีอำนาจกำหนดจนเกินขอบเขต
อย่างไรก็ตามคณะกรรมาธิการฯต้องพิจารณาให้เสร็จใน 2 วันนี้ เพราะรับปากนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ไว้แล้ว และเมื่อดูการปรับแก้ของกฤษฎีกาแล้วคิดว่า น่าจะผ่านความเห็นชอบในวาระ 3 แต่ทั้งนี้ต้องดูผลการพิจารณาวันนี้ก่อนว่า กมธ. เสียงข้างมากเห็นด้วยกับตนหรือไม่
นายสุรชัย กล่าวด้วยว่า ในร่างที่ปรับแก้มา ควรกำหนดจำนวนประชาชนที่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอทำประชามติ เพราะเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนแต่ละเรื่อง เรากำหนดกรอบหลักไว้หมด แต่เรื่องนี้ไม่ได้กำหนดกรอบหลักไว้ ทั้งนี้ จำนวนที่จะกำหนดควรไม่ต่ำกว่าจำนวนที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการเข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องจำนวนตัวเลขนี้จะไม่ทำให้ร่างตกไป เพราะคิดทางออกไว้แล้วด้วยการเพิ่มเป็นข้อสังเกตท้ายรายงานให้ กกต. เป็นแนวทางในการทำงาน
สำหรับกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาที่เจอตอนนี้เป็นเพราะการรีบเร่งพิจารณาตั้งแต่ตอนแรกนั้น นายสุรชัย กล่าวว่า ไม่ใช่รีบเร่ง บางทียังบอกอยู่เลยว่าเตะถ่วงเวลา เนื่องจากเดิมในที่ประชุม กมธ.เสียงข้างมากก็ไม่เห็นด้วย จึงไม่มีการลงรายละเอียด และให้ผู้สงวนฯ สงวนฯไว้เฉยๆ โดยไม่ได้ไปกำหนดรายละเอียดว่าจะเพิ่มเติมอะไรบ้าง ถ้าเห็นด้วยแล้วรายละเอียดยังไม่เพียงพอจึงจะนำไปสู่การช่วยกันพิจารณาปรับแก้ให้สมบูรณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเช้าวันนี้ (1เม.ย.)นายสุรชัย เป็นประธานการประชุมกรรมาธิการฯ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายประชามติ ภายหลังกฤษฎีกานำร่างกฎหมายกลับไปปรับแก้ให้สอดคล้องกับการแก้ไขของรัฐสภาในมาตรา 9 ที่เพิ่มอำนาจให้ประชาชน สามารถเข้าชื่อ เสนอคณะรัฐมนตรี หรือรัฐสภา สามารถมีมติ ให้คณะรัฐมนตรีจัดการออกเสียงประชามติได้ ทั้งนี้ ในมาตรา 10 และ 11 ที่กฤษฎีกานำไปปรับแก้ให้สอดคล้องกับมาตรา 9 นั้น ในมาตรา 10 กำหนดเงื่อนไขการออกเสียงประชามติตามที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ให้ประธานรัฐสภาแจ้งนายกรัฐมนตรี พร้อมส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และสาระสำคัญ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติ ตามวันที่ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งจะต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน ส่วนในมาตรา 11 การออกเสียงประชามติ ในกรณีที่รัฐสภามีมติ เห็นสมควรให้มีการออกเสียงประชามติ และในกรณีที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ โดยประธานรัฐสภา จะต้องแจ้งมติของแต่ละสภา และการเข้าชื่อของประชาชนให้นายกรัฐมนตรีทราบ โดยจะต้องส่งสาระสำคัญ ที่จะขอประชามติให้นายกรัฐมนตรีทราบด้วย เมื่อคณะรัฐมนตรี พิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุอันสมควรให้มีการออกเสียงประชามติ ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีการออกเสียงตามวันที่ได้หารือร่วมกับ กกต. เว้นแต่กรณีที่คณะรัฐมนตรี มีเหตุผลความจำเป็นทางงบประมาณหรือเหตุอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คณะรัฐมนตรีอาจกำหนดวันที่แตกต่างจากวันที่ได้หารือกับ กกต.ได้. สำนักข่าวไทย