สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 11 มี.ค.- ศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมเพื่อวินิจฉัยอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการประชุมวินิจฉัยไม่มีการออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย
ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ (11 มี.ค.) ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมารอเฝ้าติดตามผลคำวินิจฉัยอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) ที่ประธานรัฐสภาได้ยื่นมาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และศาลได้กำหนดนัดประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปรึกษาหารือและลงมติในวันนี้ โดยมีรายงานว่าที่ประชุมได้เริ่มเมื่อเวลา 09.30 น.
สำหรับการพิจารณาคำร้องดังกล่าวของศาลจะไม่มีการออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย เพราะเป็นเพียงการประชุมภายใน และเป็นการวินิจฉัยในเรื่องของข้อกฎหมาย โดยหลังจากได้ผลการพิจารณาแล้ว ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะส่งรายละเอียดของการพิจารณาและมติเป็นเอกสารข่าวให้กับสื่อมวลชนได้รับทราบ
สำหรับบรรยากาศที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ยังคงมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลการเข้า-ออก และแลกบัตรตามปกติ ตามระเบียบศาล อย่างไรก็ตาม ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาดูแล โดยเฉพาะภายในสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ คาดว่าผลการพิจารณาจะออกมาใน 3 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ เป็นอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภาสามารถเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ รัฐสภาจะเดินหน้าโหวตวาระที่ 3 ต่อ โดยใช้เงื่อนไขในมาตรา 256 ที่กำหนดต้องมีเสียงสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง มีเสียง ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และต้องมีเสียงพรรคการเมืองไม่มีที่นั่งในฝ่ายบริหารหรือประธานสภาอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 20
แนวทางที่ 2 แก้ไขได้รายมาตราเท่านั้น เพราะฉะนั้น การเสนอญัตติในลักษณะตั้ง ส.ส.ร. และทำให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาภายหลัง ถือว่าเป็นการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ไม่ได้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งจะทำให้เป็นรัฐธรรมนูญปี 2565 ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม หากเป็นแนวทางนี้จะทำให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญต้องตกไป เพราะถือว่าเป็นกระบวนการแก้ไขที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
และสุดท้ายแนวทางที่ 3 ศาลอาจจะอนุญาตให้แก้ไขได้ อนุญาตให้มีญัตติต่างๆ ได้ แต่มีข้อแนะนำ เช่น อาจให้ไปทำประชามติ หรือมีเงื่อนไขบางอย่างว่าบทบัญญัติบางส่วนไม่สามารถไปแก้ไขได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (10 มี.ค.) ราชกิจจานุเบกษาได้มีการเผยแพร่ พ.ร.ฎ.เรียกประชุมสภาสมัยวิสามัญ ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งวาระการประชุมที่สำคัญจะเป็นเรื่องของการพิจารณาวาระ 3 ในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ.-สำนักข่าวไทย